TEANOMENON: เมื่อชาไม่ใช่แค่ปรากฏการณ์

March 19, 2017
1400 Views
ชาเขียวเกียวคุโระของร้าน Peace Oriental Teahouse
(ภาพ: Peace Oriental Teahouse)
 

เรารู้จักชากันดีแค่ไหน? เป็นเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนน้อยกว่ากาแฟ หรือนึกภาพออกแค่ถ้วยชาจีนที่มีใบไม้ลอยไปลอยมา เราทุกคนคงคุ้นเคยกับชาเขียวบรรจุขวดที่วางขายในร้านสะดวกซื้อ หรือชาถุงที่ชงดื่มกันตอนเช้า

แต่แน่ใจหรือว่าเรากำลังดื่มชา?

ในช่วงปีที่่ผ่านมา มีร้านน้ำชาใหม่ๆ เกิดขึ้นตามย่านต่างๆ ร้านเหล่านี้เสิร์ฟเฉพาะชาและพยายามสื่อสารกับเราว่ารสชาติและคุณประโยชน์ของชาที่แท้เป็นอย่างไร เราเลือก 2 ร้านน้ำชาเปิดใหม่ที่พิถึพิถันกับทุกกระบวนการชงและดื่ม บวกกับอีก 1 แบรนด์ชา Cold Brew สุดฮิปที่เข้าถึงวัยรุ่นยุคนี้ได้เป็นอย่างดี

แม้คาแรคเตอร์จะแตกต่าง แต่ความตั้งใจของพวกเขาคือทำให้ชาไม่ใช่แค่กระแสชั่วคราวและอยากให้เรารู้จัก ‘ชาดี’ กันจริงๆ

​***
 

Peace Oriental Teahouse – ชงชาด้วยความพิถีพิถันแบบดั้งเดิม

เพียงก้าวเท้าผ่านประตูกระจกเข้าไป ความสงบแรกที่เราสัมผัสได้ในร้านน้ำชาแห่งนี้มาจากการตกแต่งด้วยไม้สีขาวอ่อนสไตล์มินิมอลที่ตัดขาดเราจากโลกวุ่นวายภายนอกอย่างสิ้นเชิง และเมื่อนั่งลงที่บาร์ไม้ชั้นล่าง คุณธี-ธีรชัย ลิมป์ไพฑูรย์ ก็เริ่มตระเตรียมใบชาเขียวคุณภาพดีให้เราลองลิ้มรสชาติ เพื่อสัมผัสถึงความสงบที่แท้จริง

บรรยากาศภายในร้านให้ความรู้สึกสงบ

“ผมเริ่มจากเกลียดชาก่อน” คุณธีบอกจุดเริ่มต้นของสิ่งที่ทำอยู่ให้เราฟัง ก่อนย้อนไปว่าเขาเติบโตในครอบครัวชาวจีนที่ทุกเช้าป๊าจะชงชาไว้ให้สมาชิกในบ้านทุกคน และเป็นหน้าที่ของคุณธีที่ต้องดื่มชาที่เรียงแถวไว้ให้หมด “ส่วนใหญ่ที่ผมทำคือเทชาใส่ถ้วยเดียวกันแล้วก็ดื่ม มันเริ่มจากอย่างนั้น เราไม่เข้าใจ ไม่รู้จัก ก็เลยมีความทรงจำที่ไม่ดีกับของเหลวสิ่งนี้มาก”

จากความเกลียดกลายมาเป็นเซียนชาที่พิถีพิถันได้อย่างไร? ความรักในกิจกรรมที่ผสมทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะเข้าด้วยกันน่าจะเป็นคำตอบ และการชงชาเป็นศาสตร์แบบนั้น “พอเราเปิดใจเข้าไปชงชา ก็ได้พบกับสิ่งที่ไม่เคยอยู่ในชีวิตเรามาก่อน แต่ว่าเราคุ้นเคยมากๆ เราไม่เคยเลือกมันมาอยู่ในกิจกรรมของชีวิตเรา แต่พอสัมผัสแล้วกลับเข้าใจมันได้”

สิ่งที่คุณธีค้นพบในตัวเองคือการรับรู้รสชาติของชาที่ ‘ละเอียด’ กว่าคนอื่น ซึ่งเป็นผลจากครอบครัวที่ปลูกฝังให้ดื่มชาขมๆ มาตั้งแต่เด็ก ทำให้เขาเริ่มเดินทางไปศึกษาหาความรู้เรื่องชาตะวันออกที่มีประวัติยาวนานกว่า 5,000 ปีอย่างจริงจัง และมีกระบวนการผลิตที่วางอยู่บนรากฐานของปัญญาและเหตุผลที่ ‘ไม่ฉาบฉวย’

“เราไม่ได้สำคัญมั่นหมายไปที่ผลอย่างเดียว เมื่ออยากได้ผล เรามุ่งไปที่เหตุ ซึ่งก็คือดิน แดด ลม ความชื้น คนจีนถ้าอยากได้กลิ่นพีชในชา เขาก็เอาเพลี้ยไปกัดใบให้ออกซิไดซ์ตั้งแต่อยู่บนต้น เด็ดชามาหมักให้เป็นชาอู่หลง คือนวดให้ใบช้ำและผึ่งบนตะแกรงด้วยอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์เท่านี้ ด้วยเวลาเท่านี้ ทำซ้ำๆ ตอนเช้าก็ได้กลิ่นพีชในใบชาแล้ว” คุณธีอธิบายกระบวนการของชาตะวันออกที่แตกต่างจากชาตะวันตกซึ่งจะเติมกลิ่นหรือผลไม้เข้าไปเบลนด์ในใบชาภายหลัง

ในช่วงหนึ่งปีที่คุณธีเตรียมตัวสร้างร้าน เขาเดินทางไปยังแหล่งผลิตชาแม้แต่ในเขตหวงห้ามของประเทศจีนอย่างถงมู่กวน ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ทำชาแดงดีที่สุดในโลก รวมไปถึงหลายๆ เมืองในญี่ปุ่นเพื่อให้ได้ใบชาในราคาที่ไม่คูณเพิ่มจากพ่อค้าคนกลางหรือร้านชาดังๆ

การไปถึงแหล่งกำเนิดทำให้คุณธีได้เรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้านที่เติบโตมากับชาตั้งแต่เด็ก ทุกแก้วที่ได้ลองชิมจึงเป็น Perfect Brew ทุกครั้งแม้ว่าจะไม่ผ่านการชั่ง ตวง วัดอะไรทั้งสิ้น “ทุกครั้งที่เรากลับไปเจอเขาเลยรู้สึกว่าต้องพัฒนา เพราะเราเห็นเขาเป็นบรรทัดฐานสูงสุด”


ชาเขียวเกียวคุโระเสิร์ฟ 3 คอร์ส: hot brew, cold brew, leaf
 

ชาเขียวเกียวคุโระ (Gyokuro) ที่คุณธีชงให้เราในวันนี้จัดเป็นเซ็ต 3 คอร์ส คอร์สแรกคือชงด้วยน้ำเย็นในอุณหภูมิห้อง เมื่อเราจิบให้ชาเคลือบลิ้นก่อนค่อยๆ ไหลลงคอและหายใจออกยาวๆ จะได้สัมผัสรสชาติอูมามิ เค็มๆ มันๆ แต่กลมกล่อมในปากที่ชาวญี่ปุ่นถือเป็นรสชาติที่หก เมื่อเซ็ตรสอูมามิเรียบร้อยก็ต่อด้วยคอร์สที่สองคือชงด้วยน้ำร้อน เพื่อให้ได้ลิ้มรสชาเขียวหนักแน่น ทานคู่กับใบชาสดๆ ผสมซอสส้มยูซึเป็นคอร์สสามที่ช่วยตัดความเลี่ยนของรสอูมามิ เท่านี้ลูกค้าก็จะได้รู้จักรสชาติของชาเขียวญี่ปุ่นของแท้ว่าเป็นอย่างไร

นอกจากเกียวคุโระแล้ว ทางร้านยังเสิร์ฟชาจีนอย่างจินจุ้นเหม่ยหอมๆ หรือจะลองมัตชะลาเต้เกรดพรีเมียมที่ชงด้วยวิธีแท้ๆ เสิร์ฟในถ้วยดินที่สั่งทำพิเศษ ก็ล้วนเป็นประสบการณ์ใหม่ทั้งนั้น

“ผมบอกน้องๆ ในทีมว่าหน้าที่ของเราไม่ใช่เสิร์ฟชา ไม่ใช่เก็บตังค์ แต่คือสร้างความประทับใจในชาให้กับลูกค้าทุกคน ถ้าเสิร์ฟเกียวคุโระไปแล้วเขากินไม่เป็น ก็ต้องหาทางเสิร์ฟตัวอื่นให้ ทำให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่ดื่มไปน่าสนใจและตรงกับความชอบของเขา ซึ่งหน้าที่นี้ยากมาก เจอกัน 10 วินาทีต้องสามารถเดาได้ว่าเขาจะชอบอะไร”

เป้าหมายสูงสุดของคุณธีคือการสร้างวัฒนธรรมชาดีให้คนไทยรู้จัก ชาดีต้องมีคุณสมบัติครบทั้ง 4 อย่างคือกลิ่น รสชาติ บอดี้ของชา และหูยกานที่คนไทยแปลว่าชุ่มคอ ให้ความรู้สึกสบาย ซึ่งจะตามมาด้วยสุขภาพร่างกายที่ดี และที่สำคัญคือต้องสร้างประสบการณ์การดื่มชาที่ดีกว่าเดิมให้ลูกค้า

“หลักการตั้งแต่ผมเริ่มทำธุรกิจนี้มาคือไม่มีร้านไหนทำของอร่อยกว่าผมได้ อาจเมเนจคอร์สได้ดีกว่า ราคาถูกกว่า แต่อร่อยกว่าไม่ได้” คุณธีบอกกับเรา โดยทางร้านจะเปลี่ยนเมนูชาทุกๆ 6 เดือน และคอลเลคชั่นสองก็พร้อมเสิร์ฟในเดือนหน้าแล้ว

Green Expresso มัตชะลาเต้เข้มข้นที่ชงด้วยวิธีการดั้งเดิม
 

ที่นี่ยังเป็นตัวแทนสรรหาชาดีให้ลูกค้าที่สนใจอยากลองชิมชาใหม่ๆ เป็นหน้าที่ที่คุณธีสนุกไปกับมัน และบอกกับลูกค้าที่เข้ามาในร้านให้เข้าใจถึงแก่นแท้ของชาเสมอ

“ผลพลอยได้ที่ผมได้มากที่สุดตลอด 6 เดือนที่เปิดร้านคือความสุข ใครก็ตามที่ชอบชาทำให้ผมมีความสุขทั้งนั้น เหมือนเราชอบอะไรอย่างหนึ่งแล้วทำให้อีกคนหนึ่งชอบได้ ความสุขมันมากกว่าที่ตัวเองเสพ และผมทำหน้าที่นั้นทุกวัน ผมว่าผมได้ความสุขเยอะที่สุด” คุณธีทิ้งท้าย แล้วปล่อยให้เราเริ่มละเลียดรสชา เครื่องดื่มที่คิดว่าคุ้นเคยมาตลอด ทั้งที่เราเพิ่งรู้จักมันครั้งแรกในวันนี้นี่เอง

FIND IT:
Peace Oriental Teahouse
วันอาทิตย์-วันพฤหัสบดี 12.00 น. – 20.30 น. // วันศุกร์-วันเสาร์ 12.00 น. – 23.00 น.
Tel. 097-267-2626
70/5 ซอยสุขุมวิท 63 วัฒนา กรุงเทพฯ (อยู่ระหว่างเอกมัยซอย 2 และซอย 4)


***
 

โรงน้ำชามิตรามิตร – จิบชารับเพื่อนสนิทมิตรสหาย

เบรกจิบชายามบ่ายระหว่างทำงานของคนในสถาบันศิลปวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา (MAYA) หน่วยงานเอกชนที่ทำงานเรื่องสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็กและครอบครัว ได้กลายมาเป็นโรงน้ำชาแบบจีนเปิดต้อนรับเพื่อนฝูงหรือคนหนุ่มสาวที่สนใจเรื่องศิลปวัฒนธรรมได้เข้ามาจิบชาพร้อมพูดคุยในบรรยากาศเป็นกันเอง

เมื่อได้พูดคุยกับคุณชัย-ชัยวัฒน์ โล่โชตินันท์ หนึ่งในผู้ดูแลโรงน้ำชาแห่งนี้ เราเลยรู้ทันทีว่าความเป็นมิตรคือจุดขายสำคัญของร้านที่ดึงดูดให้ทุกคนอยากเข้ามารู้จักชามากขึ้น

“องค์กรเราดื่มชากันมาเป็นสิบๆ ปี ตอนแรกก็ดื่มชาฝรั่ง แต่เราพบว่าชาจีนเป็นพื้นฐานของชาทุกอย่าง ก็เริ่มกลับไปหาประวัติของชาแต่ละตัวว่ามีที่มายังไง ชาประเภทเดียวกันในแต่ละภูมิภาคก็มีรสชาติไม่เหมือนกัน ชาเขียวมะลิของฟูเจี้ยนต่างกับที่หางโจว เราก็อยากตามไปชิมให้ครบ” คุณชัยเริ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตัวเองสนุกกับการดื่มชา
 


โรงน้ำชาหนึ่งคูหาเล็กๆ ริมถนนพระอาทิตย์
 

ชาจีนที่เสิร์ฟแบ่งตามสีของน้ำชา ซึ่งมีตั้งแต่ชาเขียว ชาขาว ชาแดง ชาอู่หลง และชาผู่เอ๋อ แต่ทางร้านยังขาดอีกหนึ่งประเภทคือชาเหลืองซึ่งคุณชัยบอกว่ายังไม่กล้านำเข้ามาเพราะราคาสูง แต่ละประเภทก็มีชาเกรดต่างๆ ราคาลดหลั่นกันไปตั้งแต่ 120 – 350 บาท

“พอได้ไปเห็นไร่ชา โรงงานชา ไปพิพิธภัณฑ์ชาที่เซี่ยงไฮ้ก็เลยตื่นตัวในวัฒนธรรมชาจีนมากขึ้น เราไปงาน Tea Expo ทั้งที่กวางโจวและเซี่ยงไฮ้ เป็นงานที่เราจะได้ชิมชาอย่างเต็มที่ และซื้อได้ในราคามาตรฐาน เราเลยสนุกสนานกับการดื่มและเลือกซื้อชาตัวที่เราเชื่อว่าเหมาะจะให้คนไทยได้ลองชิมดู” คุณชัยบอกถึงที่มาของชาจีนคอลเลคชั่นแรกที่มีกว่า 30 ตัว

ที่นี่เสิร์ฟชาโดยยึดหลักว่าความชอบชาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ต้องลองไปเรื่อยๆ จนหาตัวที่เหมาะกับธาตุของเราให้เจอ “ถ้าเรารู้ทันกับการดื่ม รู้รส รู้ความอร่อยของมัน ก็จะสดชื่นและร่างกายรู้สึกดี สำหรับพี่ ดื่มชาแล้วเราช้าลง ไม่ต้องทำอะไรเลยในช่วงเวลาหนึ่งกา ค่อยๆ ดื่มเพื่อปลุกประสาทของเราให้ตื่นเต็มที่ สบายๆ เราข้ามจุดที่ดื่มชาเป็นเครื่องดื่มเล่นๆ ไปแล้ว”

หลักการแนะนำชาของคุณชัยคือเริ่มจากถามว่าลูกค้าดื่มกาแฟอยู่แล้วหรือไม่ เพื่อดูว่าปกติแล้วรับคาเฟอีนมากน้อยแค่ไหน และให้เลือกระหว่างชาหอมหรือชาชุ่มคอ รวมไปถึงดูเวลาที่มาดื่มด้วย เช่น ถ้าดึกแล้วไม่ควรดื่มชาแดง เพราะคาเฟอีนจะไปสะสมทำให้ตาค้าง นอนไม่หลับ

“อย่างชามะลิหรือชาขาวก่งเหมย เด็กๆ จะชอบก็หมดเร็วมาก และลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงเขาจะชอบชาหอมก็ทำให้ชาอู่หลงหมดเร็ว แต่ชาแดงทางร้านจะยังเหลือเยอะ” คุณชัยพูดพลางหัวเราะ เพราะตอนนี้ชาในร้านหมดไปหลายตัวแล้ว เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ร้านเพิ่งเปลี่ยนเมนูชาใหม่ทั้งหมด
 

หนึ่งเซ็ตน้ำชาเสิร์ฟพร้อมขนมไทยและผลไม้
 

โรงน้ำชามิตรามิตรเลือกเสิร์ฟชาใส่กาใหญ่แบบฝรั่ง โดยในกาแรก คุณชัยจะตวงใบชา จับเวลาและอุณหภูมิของน้ำให้ได้รสชาติของชากลางๆ ไม่เข้มและไม่อ่อนเกินไปให้ลูกค้าทุกคนดื่มได้ ซึ่งถือเป็นรสชาติชาที่ดีที่สุดแล้ว เสิร์ฟพร้อมขนมไทยและผลไม้ที่ทางร้านสรรหาเจ้าอร่อยจากทั่วกรุงเทพฯ ทั้งย่านบางลำพู หรือตลาดนางเลิ้ง ถือเป็นอีกจุดเด่นแปลกใหม่ที่ดึงดูดลูกค้าหนุ่มสาวและชาวต่างชาติให้รู้จักขนมไทยอร่อยๆ มากขึ้น

“แต่ถ้าเป็นคอชาหรือลูกค้าประจำ เราจะรู้กันว่าคนนี้ขอเข้มๆ เลย พี่ก็จะจับเวลานานขึ้น ชาบางตัวแก้รสชาติได้เช่นชาแดง เข้มไปก็เติมน้ำร้อนให้เจือจาง แต่บางตัวฝาดแล้วฝาดเลย” คุณชัยอธิบายก่อนบอกว่ารายละเอียดของชานี่แหละคือความสนุก และทำให้คนที่เพิ่งเข้ามาในโลกของชาสนุกไปด้วย “พี่เองก็ได้รู้จักเพื่อนใหม่หลายๆ คนโดยมีชาเป็นตัวสื่อ”

วัยรุ่นเป็นกลุ่มลูกค้าใหญ่ของร้านนี้เหมือนกัน เพราะวันที่เราไปมีนักศึกษากลุ่มใหญ่จับจองโต๊ะนั่งพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งคุณชัยก็มองว่าชาเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยสร้างบรรยากาศในการพบปะกันของเพื่อนฝูง ทำให้ชีวิตมีสีสันและช่วยผ่อนคลายความเหนื่อยล้าจากการทำงาน

“เด็กรุ่นใหม่บอกว่าเดี๋ยวนี้ไปดื่มเหล้าไม่สนุกแล้ว มันหนวกหู อยากมาเจอกันเงียบๆ จิบชาแล้วพูดคุยกัน เราเห็นเทรนด์ว่าเขาสนใจเรื่องวัฒนธรรมชามากขึ้น สังคมเราต้องมีความละเอียด ไม่ใช่จะดื่มชาหรือกาแฟอะไรก็ได้ พอเราแนะนำก็ทำให้วิธีการคิดของเขาละเอียดขึ้น ซับซ้อนขึ้น เขาสามารถเอาไปปรับใช้ในชีวิตและสร้างสรรค์งานให้มีคุณภาพขึ้นได้” พี่ชัยบอกถึงประโยชน์ของชาในอีกมิติที่เราไม่เคยมอง

การตกแต่งร้านเป็นสไตล์จีนแท้ๆ
 

ย่านถนนพระอาทิตย์ซึ่งเป็นแหล่งผับบาร์ยามค่ำคืน พอมีโรงน้ำชามิตรามิตรเกิดขึ้นก็ได้สร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้กับหนุ่มสาว แถมยังกลมกลืนไปกับประวัติศาสตร์ของชุมชน และเป็นแหล่งรวมตัวของคนที่มีความสนใจคล้ายๆ กัน

จิบชาสักถ้วยแล้วเริ่มต้นแลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ ฟังดูเป็นบรรยากาศที่น่าชื่นใจ ถ้าเป้าหมายของที่นี่คือให้เพื่อนสนิทมิตรสหายมาใช้เวลาร่วมกันและสร้างชุมชนคนรักชา เราก็คิดว่าโรงน้ำชามิตรามิตรได้คะแนนเต็มร้อย

FIND IT:
โรงน้ำชามิตรามิตร
เปิดทุกวันยกเว้นวันศุกร์ 14.00 – 23.00 น.
Tel. 02-126-6567
32 ถนนพระสุเมรุ บางลำพู กรุงเทพฯ (อยู่ตรงข้ามพิพิธบางลำพู)

​***
 

teastudio – ต่อยอดไอเดียชาสนุกๆ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา เรามีตลาดนัด Flea Market ให้เดินกันไม่เว้นแม้สัปดาห์เดียว เมื่อลองไปเดินก็ได้เห็นสินค้าใหม่ๆ ที่เน้นดีไซน์และไอเดียสร้างสรรค์ ตอบโจทย์วัยรุ่นยุคฮิปสเตอร์ และชาที่ Cold Brew แช่เย็นในขวดน่ารักขนาดพอเหมาะกับการเดินดื่มให้พอชื่นใจของ teastudio ก็คือหนึ่งในไอเดียที่ว่า

กระติ๊บ-นุธิดา ทรัพย์บริบูรณ์ และมังกร-ศรัณย์ พลังธนสุกิจ คือเพื่อนซี้ที่ชื่นชอบการดื่มชาและกาแฟเป็นชีวิตจิตใจ และมักใช้เวลาวันหยุดไปกับการตามหาคาเฟ่ใหม่ๆ เสมอ เมื่อเริ่มเห็นว่าชาเป็นเครื่องดื่มที่หลายคนเลือกดื่ม และเป็นธุรกิจที่สามารถเติบโตได้ จึงเริ่มคิดไอเดียต่อยอดสนุกๆ จนเกิดเป็นแบรนด์ขึ้นมา

“คนดื่มชากันครึ่งโลกแต่ไม่ได้ออกตัวชัดเจน อย่างประเทศไทย คนก็คิดว่าต้องเป็นคนจีน อากงอาม่า แต่กระแสของชาในปีนี้มันมากขึ้น มีร้านชาเปิดใหม่มากขึ้น และชาแต่ละชนิดก็มีประโยชน์ต่างกัน” คุณกระติ๊บซึ่งทำงานเอเจนซี่โฆษณาเลยคิดไอเดีย Personalised Teabag หรือถุงชาที่วาดการ์ตูนเป็็นใบหน้าลูกค้าที่ใครได้รับก็ต้องรู้สึกพิเศษ และต่อยอดไปสู่ Collection Teabag ตามเทศกาล
 


ถุงชารูปใบหน้าลูกค้าตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่
(ภาพ: teastudio)

 

เมื่อไม่มีหน้าร้านและอาศัยการออกงานมาร์เก็ตต่างๆ ข้อจำกัดของสองไอเดียแรกคือลูกค้าหลายคนยังไม่เข้าใจว่าคืออะไร และไม่สามารถซื้อกลับไปได้เดี๋ยวนั้นเพราะต้องกลับมาวาดรูปให้แต่ละคน ไอเดีย Cold Brew จึงเกิดขึ้นเพื่อให้ได้ลองชิมรสชาติของชาก่อน

“Cold Brew คือกระบวนการชงชาที่ไม่ใช้น้ำร้อน เป็นวิธีที่มีอยู่แล้วทั้งชาและกาแฟ โดยนำน้ำอุณหภูมิห้องมาชง แช่ไว้ทั้งคืน พอไม่โดนความร้อน คาเฟอีนก็จะไม่ออกมาเยอะและจะรักษาวิตามินไว้ในชา เราก็บรรจุใส่ขวดและแช่เย็นไว้ 1 คืน” คุณกระติ๊บอธิบายขั้นตอนการทำซึ่งหากเป็นวันที่ต้องออกงานก็ต้องต้มชากันข้ามคืน โดยสูตรของแบรนด์จะแตกต่างจาก Cold Brew เจ้าอื่นตรงที่ผสมไซรัปสูตรพิเศษเพื่อเพิ่มความสมูทและไม่หวานเกินไป

ถึงจะเน้นไอเดียและการนำเสนอที่เฉพาะตัว แต่เรื่องคุณภาพชาที่นี่ก็ใส่ใจไม่แพ้กัน “เราพยายามเดินทางไปดื่มไปลองชิมเยอะเหมือนกัน ตอนแรกเราก็แบลงค์เรื่องชา แต่มีพี่ที่สนิทกันเขาเป็นนักดื่มชา เดินทางมาทั่วโลก เขาก็ช่วยแนะนำให้”

“ตอนนี้เรายังสั่งชาจากต่างประเทศแล้วเอามาแพ็คเอง แต่เราก็คัดคุณสมบัติว่ารสชาติแบบไหนที่ต้องการ สามารถมาจัดเป็นโปรดักต์ของเราได้ และที่สำคัญต้องออร์แกนิค” คุณมังกรอธิบายต่อก่อนบอกว่าเมื่อเดือนที่ผ่านมาก็ได้เดินทางไปดูแหล่งผลิตชาของไทยที่เชียงราย ได้เรียนรู้วิธีการดื่มชาของคนไทยจริงๆ ซึ่งแตกต่างจากชาตะวันตก ทั้งความจริงจังและการดื่มเพื่อรักษาโรคต่างๆ

“แต่คอนเทนท์ของร้านเรามาเป็นชาตะวันตกแล้ว ก็จะลองหาทางผสมผสาน เพราะเรายังอยากเบลนด์ชาเองให้เป็นซิกเนเจอร์ของร้าน และดื่มได้ทั้งคนที่ชอบดื่มชาตะวันตกและชาตะวันออกเลย”

4 รสชาติ ชา Cold Brew ของ teastudio ดื่มตอนเย็นจัดๆ ยิ่งอร่อย

สำหรับรสชาติของ Cold Brew จะผสมจากชาที่ทางร้านมีอยู่จนตอนนี้ออกมา 4 รสชาติ คือ Classy Earl Grey, Spring Mint Green Tea, Fragrant English Rose Ceylon Tea และ Strawberry Mango ที่มีเอกลักษณ์ต่างกันไป

ถ้าพูดกันตรงๆ Cold Brew ก็ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคนี้ที่ชื่นชอบสินค้าน่ารัก พอจับใส่ขวดแช่เย็นก็ทำให้ดื่มง่าย สะดวก และทำให้คนเริ่มสนุกกับการดื่มชา เพราะที่ทั้งคู่ตั้งใจไว้มากกว่าคือการสร้างสังคมของคนรักชาให้เกิดขี้น

“คนไทยยังคิดว่าชาเท่ากับน้ำเปล่า แต่เราอยากให้เขารู้ว่าดื่มชามันดีนะ ตอนแรกคนอาจจะซื้อเพราะเห็นว่าใส่ขวดน่ารักดี แต่คนที่ด่ื่มแล้วกลับมาซื้ออีกก็มี” คุณกระติ๊บบอกก่อนเล่าถึงไอเดียสนุกๆ ที่เธอกำลังร่างไว้ในอนาคตคือการจัด Afternoon Tea Party ให้คนที่ชื่นชอบการดื่มชาเหมือนกันมาพูดคุย ทำความรู้จัก และแต่ละคนก็ได้จะถุงชารูปใบหน้าตัวเองเพิ่มความสนุก

ก่อนแยกย้าย เราลองจิบชาเอิร์ลเกรย์เย็นๆ จากไอเดียของคนทั้งคู่ แล้วตั้งใจว่าจะรอคอยไอเดียครีเอทใหม่ๆ จากสตูดิโอชาแห่งนี้ต่อไป

FIND IT:
teastudio
Tel. 091-779-6072
สั่งสินค้าทางออนไลน์ได้ที่ Line ID: teastudiobkk, IG: teastudio

ภาพ: ภาณุพันธ์ วีรวภูษิต
Tell us what you think!

You may be interested

คุณครูอวดของขวัญชิ้นประทับใจจากลูกศิษย์ตัวน้อยผู้ไม่มีอะไรจะให้..แต่ก็หามาให้จนได้
AROUND THE WORLD
shares5836 views
AROUND THE WORLD
shares5836 views

คุณครูอวดของขวัญชิ้นประทับใจจากลูกศิษย์ตัวน้อยผู้ไม่มีอะไรจะให้..แต่ก็หามาให้จนได้

Sapparot - Dec 26, 2018

คุณครูชั้นประถมในสหรัฐฯ อวดของขวัญชิ้นโดนใจที่ได้รับในช่วงเทศกาลแห่งความสุขจากลูกศิษย์ตัวน้อยที่แม้ตัวเองจะไม่มีอะไรก็ยังตั้งใจสรรหาของขวัญมาให้คุณครูจนได้ ถึงจะเป็นแค่มาร์ชเมลโลว์จากซีเรียลอาหารเช้าธรรมดา ๆ แต่เพราะว่ามีความตั้งใจของหนูอยู่เต็มเปี่ยมในนั้น มันเลยพิเศษที่สุดเลย

10 รูปยอดไลค์สูงสุดใน Instagram 2018
LIFESTYLE
shares5093 views
LIFESTYLE
shares5093 views

10 รูปยอดไลค์สูงสุดใน Instagram 2018

Sapparot - Dec 25, 2018

10 รูปยอดไลค์สูงสุดจาก Instagram ปี 2018 รวมแล้วมาจากคนดังระดับโลกเพียง 5 คนเท่านั้น โดยมีหนูน้อย Stromi ลูกสาว Kylie Jenner เรียกยอดไลค์กดหัวใจให้คุณแม่ได้อย่างดีเชียว

อาทิตย์และดวงจันทร์ Rose Céleste เครื่องประดับน่ารักจาก Dior
Accesseries
shares4449 views
Accesseries
shares4449 views

อาทิตย์และดวงจันทร์ Rose Céleste เครื่องประดับน่ารักจาก Dior

Sapparot - Dec 24, 2018

Dior เผยโฉมแอคเซสซอรี่ชิ้นใหม่ Rose Céleste จี้กลมรูปพระอาทิตย์-พระจันทร์ งานแฮนด์เมดสุดปราณีตจากทองคำและเปลือกหอยมุก