Photo Essay: เยี่ยมชม “ป้อมมหากาฬ” ฟังชาวบ้านพูดถึงการต่อสู้เพื่อชุมชนที่พวกเขารัก

March 19, 2017
1723 Views

ชุมชนป้อมมหากาฬ คือเสน่ห์อย่างหนึ่งของกรุงเทพมหานคร

ชุมชนเก่าแก่แห่งนี้เป็นแหล่งรวบรวมศิลปะ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น ชาวบ้านที่นี่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายด้วยอาชีพที่ยากจะเชื่อว่ายังคงหลงเหลืออยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้ อย่างการปั้นเศียรพ่อแก่, การปั้นตุ๊กตาดินเผารูปฤาษีดัดตน, การเลี้ยงนกเขาชวา, การทำกรงนก, การเลี้ยงไก่ชน ฯลฯ จึงไม่เป็นการกล่าวเกินจริงเลยที่หลายคนยกให้ชุมชนแห่งนี้เป็น “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต”

ที่ผ่านมา เราได้ยินข่าวการต่อสู้ของชาวบ้านมาตลอด และรู้ว่าพื้นที่แห่งนี้กำลังถูกเวนคืนเพื่อปรับปรุงให้เป็นสวนสาธารณะและแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ตามนโยบายอนุรักษ์ป้อมและกำแพงพระนครของกรุงเทพมหานคร เชื่อว่าคงไม่มีใครคัดค้านนโยบายนี้ แต่เราอดเสียดายไม่ได้หากการอนุรักษ์นั้นอาจต้องแลกมาด้วยการทำลาย และกลับเป็นการทำลายสิ่งที่เคยอยู่เคียงคู่กันมาตลอด

วันนี้ Coconuts Krungthep พาคุณไปเยี่ยมชมป้อม และพูดคุยกับสิ่งมีชีวิตหลังป้อมกัน

 

เปิดประตูป้อม

ป้อมมหากาฬ ป้อมแปดเหลี่ยมประจำพระนครด้านตะวันออก เป็น 1 ใน 14 ป้อมที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อรักษาพระนครชั้นใน ตัวป้อมเป็นรูปแปดเหลี่ยม ล้อมด้วยกำแพงสีขาว 2 ชั้น ตั้งอยู่บนถนนมหาไชย บริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เห็นได้ชัดเจนเมื่อสัญจรผ่านถนนราชดำเนิน

ในปี 2492 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนป้อมมหากาฬและกำแพงเมืองเป็นโบราณสถานของชาติ และได้บูรณะป้อมครั้งใหญ่ในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ในปี 2524

ป้อมมหากาฬเคยได้รับการนำลงพิมพ์ธนบัตรใบละ 10 บาทอยู่ระยะหนึ่ง

 

เดินเลียบชานกำแพงพระนคร

นอกจากการสร้างป้อมรอบกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว กลยุทธ์ป้องกันพระนครอีกอย่างก็คือการใช้คูคลอง รัชกาลที่ 1 จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองตัดทะลุแม่น้ำเจ้าพระยา และเมื่อมีแหล่งน้ำ จึงเกิดชุมชนขึ้น

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชาวบ้านได้เริ่มปลูกสร้างบ้านเรือนริมชานกำแพงบริเวณป้อมมหากาฬ หรือ “ชานกำแพงพระนคร” จนกระทั่งรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ​ให้สร้างวัดพระราชนัดดาและวัดเทพธิดาขึ้นภายในกำแพงพระนคร และพระราชทานที่ดินบริเวณนั้นให้ข้าราชบริพาร ชาวบ้านจึงเริ่มทยอยย้ายเข้ามาอยู่ภายในกำแพง จนเป็นที่มาของชุมชนป้อมมหากาฬในปัจจุบัน

เมื่อเราเดินเลียบริมกำแพงเข้าถนนมหาไชย ก็จะเห็นประตูช่องกุฏิตรงข้ามวัดพระราชนัดดา ตรงนี้เองคือทางเข้าของชุมชมป้อมมหากาฬ

ช่องกุฏิชานกำแพงป้อมมหากาฬที่เหล่าขุนนางเคยใช้เป็นทางเข้า-ออกพระนคร ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3

 

หลังป้อม มีบ้าน

การเดินดุ่มๆ เข้าไปในป้อมในช่วงที่เกิดเรื่องตึงเครียดแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องเจรจากับชาวบ้านอยู่พักใหญ่ถึงเดินเข้าไปสำรวจพื้นที่ภายในได้

สิ่งที่เราเห็นคือบ้านไม้แบบโบราณตั้งเรียงเป็นแถว ดูเก่าบ้างใหม่บ้าง บางคนอาจบอกว่านี่คือแหล่งเสื่อมโทรม แต่เรากลับคิดว่ามันคือจุดเชื่อมต่อที่พาเราย้อนกลับไปเห็นวิถีชีวิตชาวบ้านของคนรุ่นปู่ย่าของเรา

พื้นที่ 4 ไร่ ตรงนี้ เป็นหนึ่งในย่านอยู่อาศัยที่เก่าแก่ที่สุดของไทย และเคยเป็นที่พักพิงให้ชาวบ้านกว่า 100 หลังคาเรือน

ในปี 2535 กรุงเทพมหานครออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินส่วนชานกำแพงป้อมมหากาฬจากชาวบ้านเพื่อสร้างสวนสาธารณะและแหล่งท่องเที่ยวใจกลางเมือง ตามโครงการปรับปรุงเกาะรัตนโกสินทร์ โดยตกลงจ่ายเงินชดเชยแก่ชาวบ้านไปบางส่วน แต่เมื่อชาวบ้านนำเงินไปซื้อที่อยู่ใหม่ตามโครงการที่กรุงเทพมหานครจัดไว้ให้ กลับพบว่าไม่มีระบบสาธารณูปโภคและแหล่งประกอบอาชีพรองรับที่เพียงพอ พวกเขาจึงเจรจาขอคืนเงินและย้ายกลับเข้ามาอยู่ที่เดิม

ชาวบ้านได้ประชุมและจัดทำข้อเสนอพร้อมจัดผังชุมชนแก่กรุงเทพมหานคร เพื่อพัฒนาให้เป็นชุมชนตัวอย่างที่อยู่คู่สวนสาธารณะ โดยเสนอให้แบ่งที่ดินเป็น 2 ส่วน ไว้สำหรับสร้างสวน 3 ไร่ ส่วนอีก 1 ไร่ ขอไว้เพื่ออนุรักษ์บ้านไม้โบราณให้เป็นศูนย์เรียนรู้ศิลปะวัฒนธรรมของเมือง

บ้านไม้โบราณ เลขที่ 97 ที่สร้างตามมาตรฐานเรือนไทยเดิมภาคกลาง

ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ แถวนี้เคยเป็นบ้านพักขุนนางชั้นสูง อย่างเจ้าพระยายมราช และเสนาบดีกรมเวียง (กรมเมือง)

 

วิถีชาวป้อม

เมื่อได้ยินแผนการเปลี่ยนชุมชนป้อมมหากาฬเป็นสวนสาธารณะ สิ่งที่ทำให้เราตกใจไม่ใช่แค่เพราะสิ่งปลูกสร้างโบราณกำลังจะหายไป แต่คือการสิ้นสุดของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สั่งสมกันไว้หลายชั่วอายุคนด้วย

ชุมชนป้อมมหากาฬเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญมานาน เคยเป็นที่อยู่ของขุนนางข้าราชบริพารใกล้ชิดกับวังหลวง และเป็นสวนผลไม้หลวง ที่เรียกว่า “สวนหลวงพระยาไกร” สภาพภูมิศาสตร์บริเวณนี้เป็นทางน้ำ 3 แพร่ง จุดตัดของคลองรอบกรุงกับคลองมหานาค จึงทำให้เกิดการสัญจรและแลกเปลี่ยนค้าขายของผู้คนขึ้นตามธรรมชาติ

ที่ตั้งด้านหนึ่งของป้อมเคยเป็นโรงลิเกโบราณของคณะลิเกพระยาเพ็ชรปาณี ซึ่งเป็นต้นกำเนิดคณะลิเกยุคแรกๆ ของไทย และยังเคยเป็นแหล่งทำเครื่องดนตรีสายวังหลวง

ก่อนหน้านี้ มีครอบครัวชาวใต้อพยพเข้ามาอยู่ในชุมชนและได้ถ่ายทอดวิชาการทำกรงนกจากวัสดุธรรมชาติเอาไว้ กรงนกเขาและกรงนกปรอดหัวจุกที่ขายในชุมชนมีราคาสูงหลายพันเพราะต้องใช้ความประณีตในการทำนานหลายเดือน

จุดซื้อขายนกเขาชวาและไก่พันธุ์พื้นบ้านที่สำคัญแห่งหนึ่ง

ชุมชนป้อมมหากาฬเป็นแหล่งช่างฝีมือหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาสำคัญ ผลิตผลงานสร้างสรรค์รูปฤาษีดัดตนและเศียรพ่อแก่ ที่ผ่านมามีนักศึกษาแวะเข้ามาฝึกงานกับช่างที่นี่เป็นประจำ

อาชีพช่างหลอมทองเป็นหนึ่งในหลายๆ อาชีพที่ได้สูญหายไปจากชุมชมแห่งนี้แล้วอย่างน่าเสียดาย

ชาวบ้านบางคนต้องเปลี่ยนอาชีพเพื่อความมั่นคง โดยหันมาขายกระเพาะปลาและดอกไม้ไฟ แต่ก็ยังไม่ได้สร้างรายได้มากมายนัก

 

เสียงกระซิบหลังป้อม

ปัจจุบัน มีชาวบ้านเหลืออยู่ไม่ถึง 60 หลังคาเรือน ที่ผ่านมา ชาวบ้านบางคนต้องลาออกจากงานเพื่อมาเป็นหน่วยเฝ้าระวัง หลายครอบครัวต้องเจอกับความเครียดและความกังวลถึงชีวิตที่ไม่แน่นอน ทางกรุงเทพมหานครเองก็ยังยืนยันว่าจะให้ชาวบ้านย้ายออกภายในกลางปีนี้และจะเร่งเข้ารื้อสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ทันที

หลังจากเดินสำรวจพื้นที่และทำความคุ้นเคยกับชาวบ้านอยู่พักใหญ่ เราจึงได้มีโอกาสพูดคุยกับพวกเขา

“ทุกครั้งที่ได้อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ หรือมีใครมาบอก มันปวดหัวใจทุกครั้ง พี่ไม่เคยคิดว่าจะต้องทำยังไง คิดอย่างเดียวว่ายังไงเราก็ขออยู่ที่นี่ …. จะทำยังไงกับเรา จะเหยียบ จะย่ำ จะฟัน จะฆ่า ก็ขอยอมตายที่นี่” ดาว-สุภานัช ประจวบสุข กรรมการชุมชน

“ผมคิดว่าชาวต่างประเทศที่มาที่นี่ เขาไม่ต้องการตึกไว้นั่งดื่มกาแฟหรอก เค้าอยากเห็นวิถีชีวิตของคนเก่าๆ มากกว่า ผมขายกรงนกเขา จะเอาผมไปอยู่บนแฟลต วิถีชีวิตแบบนี้มันก็ต้องเปลี่ยนไป …. ถ้าอยากทำที่นี่ให้เป็นสถานท่องเที่ยว เราก็ทำได้ เด็กๆ ก็ฝึกเป็นล่ามได้ …. ถ้าท่านจะรื้อ จะเอารถมาไถก็มาเถอะครับ ผมจะแค่นั่งดูท่าน” ติ่ง-ไพบูลย์ ตุลารักษ์ ช่างทำกรงนกและนักเลี้ยงนก

“เราอยู่มา 3 ชั่วอายุคนแล้ว ประกอบอาชีพนี้กันมานาน ลูกค้าเดิมๆ ก็รู้จักที่ตรงนี้ ย้ายไปไกลๆ ใครจะตามไปซื้อ คือที่อยู่จะนอนตรงไหนก็ได้ แต่ถ้าไปแล้วไม่มีที่ทำกินแล้วลำบากนะ” อ้วน-รัชนี นิลใบ อาชีพขายกรงนกเขาชวา

“มีรากเหง้าอยู่ที่นี่ก่อนที่เราจะได้มาอยู่ เราสามารถเรียนรู้มาเล่าและสื่อสารให้คนภายนอกได้ ที่นี่เรากำลังทำเป็นสวนวัฒนธรรม ให้ใช้ชีวิตคู่กับสวนไปด้วย ไม่อยากให้เหลือเพียงศิลาจารึกที่ไม่มีชีวิต …. ปีนี้จะขอฟันธงเลย จะขอสู้เต็มที่ เพราะอายุก็มากแล้ว ตอนที่เราสู้ได้เราจะรีบสู้ เพราะเราไม่รู้ว่า ในอนาคตลูกหลานจะร่วมสู้กับเราหรือเปล่า” เล็ก-พีระพล เหมรัตน์ ช่างปั้นหัวพ่อแก่ ผู้สืบทอดหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาจาก ลุงโอ่ง-กุศล เชยบุปผา

เราเชื่อว่า ป้อมมหากาฬจะยังยืดหยัดตระหง่านเป็นโบราณสถานศิลปวัตถุเคียงคู่เกาะรัตนโกสินทร์ให้เราได้ชื่นชมกันไปอีกหลายชั่วอายุคน แต่เราไม่มั่นใจนักว่าอารยธรรมและวิถีชีวิตที่อยู่หลังป้อมจะคงอยู่คู่กันไปได้อีกนานแค่ไหน

ถ้าป้อมมีชีวิตและพูดได้จริง เราก็อยากถามว่า “ป้อมอยากจะพัฒนาพื้นที่ของตัวเองอย่างไร”

เรื่องและภาพ: ชนิกานต์ ทองสุภา

Tell us what you think!

You may be interested

คุณครูอวดของขวัญชิ้นประทับใจจากลูกศิษย์ตัวน้อยผู้ไม่มีอะไรจะให้..แต่ก็หามาให้จนได้
AROUND THE WORLD
shares5769 views
AROUND THE WORLD
shares5769 views

คุณครูอวดของขวัญชิ้นประทับใจจากลูกศิษย์ตัวน้อยผู้ไม่มีอะไรจะให้..แต่ก็หามาให้จนได้

Sapparot - Dec 26, 2018

คุณครูชั้นประถมในสหรัฐฯ อวดของขวัญชิ้นโดนใจที่ได้รับในช่วงเทศกาลแห่งความสุขจากลูกศิษย์ตัวน้อยที่แม้ตัวเองจะไม่มีอะไรก็ยังตั้งใจสรรหาของขวัญมาให้คุณครูจนได้ ถึงจะเป็นแค่มาร์ชเมลโลว์จากซีเรียลอาหารเช้าธรรมดา ๆ แต่เพราะว่ามีความตั้งใจของหนูอยู่เต็มเปี่ยมในนั้น มันเลยพิเศษที่สุดเลย

10 รูปยอดไลค์สูงสุดใน Instagram 2018
LIFESTYLE
shares5030 views
LIFESTYLE
shares5030 views

10 รูปยอดไลค์สูงสุดใน Instagram 2018

Sapparot - Dec 25, 2018

10 รูปยอดไลค์สูงสุดจาก Instagram ปี 2018 รวมแล้วมาจากคนดังระดับโลกเพียง 5 คนเท่านั้น โดยมีหนูน้อย Stromi ลูกสาว Kylie Jenner เรียกยอดไลค์กดหัวใจให้คุณแม่ได้อย่างดีเชียว

อาทิตย์และดวงจันทร์ Rose Céleste เครื่องประดับน่ารักจาก Dior
Accesseries
shares4365 views
Accesseries
shares4365 views

อาทิตย์และดวงจันทร์ Rose Céleste เครื่องประดับน่ารักจาก Dior

Sapparot - Dec 24, 2018

Dior เผยโฉมแอคเซสซอรี่ชิ้นใหม่ Rose Céleste จี้กลมรูปพระอาทิตย์-พระจันทร์ งานแฮนด์เมดสุดปราณีตจากทองคำและเปลือกหอยมุก