Game is not a Crime: “Let Me Grow” มองเด็กติดเกมด้วยสายตาใหม่

July 12, 2018
1577 Views

‘เด็กติดเกม’ เป็นปัญหาอันดับต้นๆ ที่สังคมไทยหยิบยกมาพูดคุยหาทางออกกันอยู่บ่อยๆ แต่ก็มักจบลงด้วยการที่ผู้ใหญ่สรุปให้เกมเป็นผู้ร้ายหลายครั้งไป ส่วนเด็กๆ ก็ออกมาโต้ตอบว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ จนสาเหตุที่แท้จริงของปัญหานี้ถูกทำให้เป็นภาพเบลอทุกที

หลังจากปล่อยเทรลเลอร์รายการใหม่ประเดิมค่ายภาพดีทวีสุข “LET ME GROW พลิกชีวิตเด็กติดเกม” เรียลลิตี้กึ่งสารคดีพาไปดูชีวิตของเด็กๆ 61 คนในค่ายบำบัดการติดเกม เราเลยสนใจพูดคุยกับพัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับรายการที่เขาปลุกปั้นโปรเจกต์นี้ตั้งแต่เริ่มแรกพร้อมธีรภัทร เจริญภักดี และเอกพงษ์ สราญเศรษฐ์ ถึงสาเหตุสำคัญของปัญหา ‘เด็กติดเกม’ แท้จริงแล้วคืออะไรกันแน่

พัฒน์ยืนยันว่ารายการนี้จะไม่จบลงด้วยการสรุปว่าเกมเป็นผู้ร้าย

และการตามติดชีวิตเด็กติดเกมเหล่านี้พาเขาไปไกลกว่าที่คาดไว้เยอะมาก

พวกเขาคือเด็กธรรมดา

‘ค่ายบำบัดเด็กติดเกม’ เป็นความคิดของรศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลศิริราช ผู้ทำงานเพื่อสังคมเกี่ยวกับเยาวชนอย่างต่อเนื่อง อย่างเว็บไซต์ healthygamer.net ที่ให้ความรู้และคำปรึกษาพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกติดเกม พอจัดทำค่าย คุณหมอชาญวิทย์เลยอยากหาทีมวิดีโอมาถ่ายทำเพื่อไม่ให้เนื้อหาดีๆ จบลงแค่เด็ก 61 คนที่ผู้ปกครองส่งมาเข้าร่วม เลยได้พัฒน์กระโดดเข้ามารับผิดชอบส่วนนี้

แต่ถ้าจะให้เล่ากิจกรรมในค่ายตลอด 7 วัน มีวิทยากรมาพูด สัมภาษณ์เด็กในค่ายสั้นๆ ฟังดูก็คงน่าเบื่อ พัฒน์เลยพยายามคิดคอนเทนท์ที่สนุกและน่าจะเกิดอิมแพคกับคนดูมากกว่า ด้วยประสบการณ์ที่ได้ทำงานในกองถ่ายซี่รี่ส์ ‘Hormones วัยว้าวุ่น’ ทำให้พัฒน์เห็นว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่ที่มักถูกพูดถึงในสื่อ เป็นที่รู้จักก็หนีไม่พ้นคนหน้าตาดี มีเสน่ห์ เรียนเก่ง หรือมีทักษะกีฬาโดดเด่น

แต่กับเด็กติดเกมเหล่านี้ พวกเขาเป็นเด็กธรรมดาที่ไม่มีใครสนใจ

“เด็กพวกนี้เหมือนพวกเราที่หน้าตาธรรมดา ไม่ได้เรียนเก่งมาก แต่เขาก็เกิดมาแล้วบนโลกใบนี้และต้องเติบโตต่อไป ถึงไม่รู้ว่าจะโตไปยังไงก็ตาม เราชอบไอเดีย coming of age แบบนี้ และภาพของเด็กใส่แว่น หน้ามันๆ แต่ตอบคำถามที่จริงจังอย่างคิดว่าอนาคตประเทศไทยจะเป็นยังไงต่อไป เราจะเห็นเด็กพวกนี้ตอบมาแบบที่เชื่อในความคิดของเขาจริงๆ ก็น่าสนใจดี” พัฒน์เล่าไอเดียการหนีคอนเทนท์แบบเดิมไปสู่สิ่งที่ยากและท้าทายกว่า

วันก่อนเริ่มค่าย พัฒน์และทีมงานเลยต้องนั่งคุยกับเด็กเกือบทุกคนว่าพวกเขาเป็นคนยังไง คิดอะไรอยู่ (ที่ไปไกลกว่าพฤติกรรมติดเกม) สุดท้าย พัฒน์เลือกเด็ก 4 คนเป็นตัวแทนของเยาวชนไทยกลุ่มต่างๆ ทั้งเด็กอัจฉริยะแต่เจอปัญหาจนต้องวิ่งเข้าหาเกมเพื่อหาอะไรทำฆ่าเวลา เด็กผู้หญิงที่ถูก cyberbulling โจมตี เด็กที่ฝันอยากเป็นนักเขียนนิยายแต่ทางบ้านไม่อินไปกับโลกในจินตนาการ หรือเด็กที่มีปัญหาในการเข้าสังคมและสบายใจจะใช้ชีวิตในโซเชียลเน็ตเวิร์คมากกว่า

“เราเลือกเด็กจากคาแรคเตอร์และมุมมองที่น่าสนใจ แต่สุดท้ายพอเข้าไปคุย ทุกคนมีปัญหาครอบครัวที่รุนแรงหมดเลย เรื่อง generation gap เกิดขึ้นได้กับทุกคนโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม เราเติบโตมาโดยที่มีปมอะไรบางอย่างและสุดท้ายมันจะส่งผลต่อการพัฒนาของเราแน่นอน”

 

เกมไม่ใช่ฆาตกร

ถึงจะปล่อยเทรลเลอร์ออกมาไม่กี่วัน บางความเห็นในโลกออนไลน์ก็ตั้งคำถามว่าแค่ชื่อ “ตามติดชีวิตเด็กติดเกม” ก็ฟันธงไปแล้วว่ารายการนี้คงยกให้เกมเป็นต้นตอของปัญหา งานนี้พัฒน์บอกว่าเกมเป็นเพียงแค่ฟิกเกอร์หนึ่งที่เขาเจอและสามารถเอามาเล่าแทนปัญหาอื่นๆ ได้

“เราพยายามมากที่จะดิ้นไปทำคอนเทนท์อื่น เพราะส่วนตัวเราไม่เชื่อเลยว่าเกมไม่ดี เราเชื่อว่าเกมเป็นตัวดีด้วยซ้ำ Ep. 1-2 อาจจะปูเรื่องปัญหาการติดเกมนิดหน่อย แต่ถ้าดูไปจนจบจะรู้ว่าเราไม่ได้พูดถึงเกมในแง่ไม่ดีเลย แต่เราพูดถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาแค่นั้นเอง”

มองในสายตาเป็นกลาง ปัญหาเด็กติดเกมก็ไม่ต่างจากปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับเยาวชนหรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่ มันคือทางเลือกหนึ่งที่เด็กจะเดินเข้าไปเมื่อพบว่าครอบครัวไม่มีความสุขหรือสื่อสารไม่เข้าใจกัน ซึ่งในอนาคตอาจจะเป็นอย่างอื่นก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเกม

กำแพงของความสัมพันธ์

ความยากของงานนี้ไม่ได้อยู่ที่ขั้นตอนการถ่ายทำหรือตามไปสัมภาษณ์เด็กๆ และครอบครัว แต่เป็นช่วงเวลาตัดต่อที่ใช้เวลาถึง 6 เดือนเต็มๆ

“สิ่งที่เราเข้าไปค้น เข้าไปเจาะพวกเขามันลึกมาก บางเรื่องลูกเขา พ่อแม่เด็กๆ ยังไม่รู้เรื่องนี้เลย เราต้องมาจัดเรียงทุกอย่างให้เป็นระบบ พอตัดต่อเสร็จก็นำไปฉายให้พวกเขาดูก่อนหนึ่งรอบ ซึ่งพอรายการถูกเรียงคอนเทนท์มาให้เข้าใจแล้วว่าเราจะสื่ออะไร ความสัมพันธ์ negative ที่พวกเขาอาจไม่อยากให้ใครรู้ พอเขาได้ดูและรู้ว่ามันจะบอกอะไรต่อกับสังคม เขาก็อนุญาตให้เราฉายได้” นี่เป็นสิ่งที่ทำให้พัฒน์ภูมิใจว่าเด็กๆ และครอบครัวได้ก้าวผ่านปัญหา และกล้าหาญที่ยอมเปิดเผยชีวิตตัวเองเป็นบทเรียนให้ครอบครัวอื่นไม่ก้าวพลาดอีก

 

เพราะวัยรุ่นก็เจ็บปวดเป็น

พัฒน์เล่าว่าการทำงานโปรเจกต์นี้เปิดโลกเขาเยอะมาก “ทุกครั้งที่ได้คุยกับเด็กพวกนี้เราจะคิดถึงตัวเองตอนเด็กๆ มันเห็นความหวัง เห็นความฝัน เห็นพลังงานที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต แต่ชีวิตของเด็กบางคน เราก็คิดไม่ออกเหมือนกันว่ามันจะไปต่อยังไงวะ เรานั่งฟังสัมภาษณ์แล้วเราก็ร้องไห้ มันทำให้เราเรียนรู้อะไรเยอะมากและกลับมาสำรวจความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวตัวเองเหมือนกัน”

‘ความสัมพันธ์’ ใน ‘ครอบครัว’ คือคีย์หลักที่ทีมงานทุกคนตั้งใจสื่อสารออกไปให้ถึงคนดู และความสัมพันธ์จะดีได้ถ้าทุกคนเปิดรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน ทรีททุกความเห็น ไม่ว่าจะจากปากเด็กหรือผู้ใหญ่ให้เท่าเทียม รับฟังด้วยความเข้าใจเท่ากัน

“ความทุกข์ของเด็กคนหนึ่งก็มีน้ำหนักเท่ากับความทุกข์ของผู้ใหญ่ การที่เด็กกลับมาจากโรงเรียนแล้วเล่าให้พ่อฟังว่าที่โรงเรียนเพื่อนทะเลาะกัน งานโรงเรียนตอนนี้กำลังไปไม่ แล้วพ่อบอกว่าจะเครียดทำไม ไร้สาระ ซึ่งจริงๆ แล้วน้ำหนักปัญหาของเด็กที่งานโรงเรียนกำลังจะล่ม เพื่อนทะเลาะกัน มันก็หนักเท่ากับบริษัทพ่อมีพนักงานทะเลาะกันและกำลังจะปิด” พัฒน์ทิ้งท้ายตัวอย่างที่ทำให้เราต้องกลับมาคิดทบทวนใหม่อีกที

บอกแล้วว่าเรื่องนี้ ‘เกม’ กลายเป็นเรื่องเล่นๆ ไปเลย

ติดตามรายการ “LET ME GROW พลิกชีวิตเด็กติดเกม” ได้ที่ช่อง GMM25 ทุกวันเสาร์

เวลา 22.30 น. เริ่มเสาร์ที่ 23 มกราคมนี้

ขอบคุณภาพจาก ภาพดีทวีสุข


NEW RELEASE: พูดคุยกับศิลปินที่มีผลงานใหม่น่าจับตามอง สำรวจความคิดเบื้องหลังและทัศนคติดีๆ ที่จะเปลี่ยนมุมมองบางอย่างกับคุณ
มีใครน่าสนใจหรืออยากให้สัมภาษณ์ใคร ส่งมาบอกเราได้ที่ [email protected]


Tell us what you think!

You may be interested

คุณครูอวดของขวัญชิ้นประทับใจจากลูกศิษย์ตัวน้อยผู้ไม่มีอะไรจะให้..แต่ก็หามาให้จนได้
AROUND THE WORLD
shares6201 views
AROUND THE WORLD
shares6201 views

คุณครูอวดของขวัญชิ้นประทับใจจากลูกศิษย์ตัวน้อยผู้ไม่มีอะไรจะให้..แต่ก็หามาให้จนได้

Sapparot - Dec 26, 2018

คุณครูชั้นประถมในสหรัฐฯ อวดของขวัญชิ้นโดนใจที่ได้รับในช่วงเทศกาลแห่งความสุขจากลูกศิษย์ตัวน้อยที่แม้ตัวเองจะไม่มีอะไรก็ยังตั้งใจสรรหาของขวัญมาให้คุณครูจนได้ ถึงจะเป็นแค่มาร์ชเมลโลว์จากซีเรียลอาหารเช้าธรรมดา ๆ แต่เพราะว่ามีความตั้งใจของหนูอยู่เต็มเปี่ยมในนั้น มันเลยพิเศษที่สุดเลย

10 รูปยอดไลค์สูงสุดใน Instagram 2018
LIFESTYLE
shares5434 views
LIFESTYLE
shares5434 views

10 รูปยอดไลค์สูงสุดใน Instagram 2018

Sapparot - Dec 25, 2018

10 รูปยอดไลค์สูงสุดจาก Instagram ปี 2018 รวมแล้วมาจากคนดังระดับโลกเพียง 5 คนเท่านั้น โดยมีหนูน้อย Stromi ลูกสาว Kylie Jenner เรียกยอดไลค์กดหัวใจให้คุณแม่ได้อย่างดีเชียว

อาทิตย์และดวงจันทร์ Rose Céleste เครื่องประดับน่ารักจาก Dior
Accesseries
shares4816 views
Accesseries
shares4816 views

อาทิตย์และดวงจันทร์ Rose Céleste เครื่องประดับน่ารักจาก Dior

Sapparot - Dec 24, 2018

Dior เผยโฉมแอคเซสซอรี่ชิ้นใหม่ Rose Céleste จี้กลมรูปพระอาทิตย์-พระจันทร์ งานแฮนด์เมดสุดปราณีตจากทองคำและเปลือกหอยมุก