NANA SPACE // NANA SCAPE: ‘ซอยนานา’ คึกคักฆ่าเวลาหรือพัฒนาจริงๆ

March 19, 2017
3501 Views

จากตรอกเล็กแคบที่สองข้างทางเป็นตึกแถวเก่าแก่อายุกว่าร้อยปี กลายมาเป็นซอยฮิปๆ เต็มไปด้วยร้านรวง แกลเลอรี่ และบาร์สุดจะมีเอกลักษณ์ แหล่งเช็คอินใหม่ของคนกรุงเทพฯ ภายในเวลาแค่ 2-3 ปีได้อย่างไร? เรากำลังพูดถึง ‘ซอยนานา’ ย่านเจริญกรุงไม่ไกลออกไปจากวงเวียน 22 กรกฎา

เกริ่นสั้นเผื่อใครยังไม่เคยไป ซอยนานานี้ไม่ใช่นานาแถวสุขุมวิท แต่มีเจ้าของเดียวกัน ถ้าไปถามอาแปะแถวนั้นจะรู้จักในชื่อ ‘ซินแซโกย’ หรือตรอกหมอ เพราะเดิมเป็นแหล่งขายยาจีนที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ แต่เมื่อเวลาผ่าน ลูกหลานย้ายออกไป ตึกแถวก็ถูกปล่อยทิ้งร้างเหลือเพียงความเงียบเหงาของคนเก่าก่อน

เราจะพาไปดูกันว่าใครทำให้ซอยนานากลับมาคึกคักจนกลายเป็นคอมมูนิตี้ที่ครบครันทั้งศิลปะ ความเมามาย แต่รุ่มรวยไปด้วยเสน่ห์ของย่านเก่าครบถ้วนแบบที่คนกรุงเทพฯ มักตื่นเต้นและถามหา และลากไปถึงประเด็นการพัฒนาพื้นที่ซุกซ่อนในกรุงเทพฯ ให้เกิดใหม่ว่าจะไปได้ไกลแค่ไหน

ช่วงเวลา 2-3 ปีที่ซอยนานาถูกปลุกจากการหลับใหลจะยาวนานอีกแค่ไหน และอนาคตจะไปในทิศทางใด? เราน่าจะได้คำตอบบางส่วนจากคนที่เราไปพูดคุยด้วยต่อจากนี้

Cho Why: ศูนย์กลางของซอยนานา

หลายงานฮิตของซอยนานาเกิดขึ้นที่นี่ ตึกแถวสามชั้นตรงหัวมุมกลางซอยที่เลือกแล้วว่าสะดุดตา (ยกเว้นจะไปในวันที่ไม่มีอีเว้นท์อะไรอาจหายากหน่อย) ไม่ว่าจะเป็นงาน Soi Nana Craft & Jumble Trail ที่ชวนทุกร้านในซอยขนของวินเทจมาแบกะดินขาย, นิทรรศการภาพถ่าย Why So Serius? โดยเพื่อนศิลปินร่วมกันจัดเพื่อระลึกถึงการจากไปของสิงห์ Squeez Animal และล่าสุดกับอีเว้นท์ปาร์ตี้ยามบ่ายวันอาทิตย์ที่จัดเต็มทั้งอาหาร เสียงเพลงและการเต้นรำ Vermount Session#1

Victor Hierro หนุ่มใหญ่ชาวสเปน หนึ่งในผู้ก่อตั้งที่นี่เริ่มเล่าย้อนไปตอนที่เขามองหาตึกแถวเป็นที่อยู่อาศัย จนมาถูกใจในความเก่าของซอยนานาที่ไม่ไกลจากย่านเศรษฐกิจอย่างเยาวราช แต่ยังคงสงบอยู่ เลยตัดสินใจเช่าแล้วเปิดร้านอาหารสเปนเล็กๆ ชื่อEl Chiringuito’ ที่ชั้นล่างร่วมกับปูเป้-สุดาภรณ์ แซ่เอี้ย

เมื่อผลตอบรับไปได้สวย วิกเตอร์เลยชวนเพื่อนชาวต่างชาติมาจับจองพื้นที่ว่างเปิดเป็นบาร์หรือแกลเลอรี่เล็กๆ แล้วรวมกลุ่มกับคนไทยมาเปิดสเปซสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมกัน โดยได้ David Fernandez หนุ่มสเปนมาช่วยจัดการเรื่องงานต่างๆ ของที่นี่ พร้อมด้วยเพื่อนฝูงอย่าง Romain Dupuy แห่ง Soul Bar, ติ๊บ-ฉัตรทิพย์ พวงธรรม เจ้าของแบรนด์ Pure Luck Bangkok และเคย์-ปริญญ์ โชติกเสถียร ดีไซเนอร์แห่งแบรนด์ The Oddyssee เป็นทีมงานอยู่เบื้องหลัง

‘Open Public Space ที่ทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้’ คือนิยามที่วิกเตอร์และเดวิดใช้อธิบาย Cho Why เพราะจากความชอบที่หลากหลายของทีม ตั้งแต่ภาพถ่าย ภาพยนตร์ ดนตรี ดีไซน์ สถาปัตยกรรม ทำให้ที่นี่พร้อมจัดงานได้ทุกแนวทั้งอีเว้นท์, Group Exhibition หรือ Solo Exhibition เพียงแค่ถูกใจผลงานและสเปซก็ร่วมงานกันได้ แถมยังเปิดให้เช่าเป็นสถานที่ถ่ายภาพยนตร์ โฆษณาก็ได้หากใครหลงเสน่ห์ความสวยของย่านเก่า

“คาแรคเตอร์ของเราเหมือนกิ้งก่า คือเปลี่ยนสีไปตามผนัง ขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่เราจัด เพราะเราไม่อยากแสดงสิ่งเดิมๆ ให้คุณดูในทุกวัน และถ้ามาที่นี่คุณไม่จำเป็นต้องแต่งตัวหรู แค่มาสนุกกัน เจอคนใหม่ๆ ดื่มเบียร์ ไม่ต้องเก๊กอะไร เหมือนมาปาร์ตี้กัน” เดวิดขยายความนิยามของ Cho Why ให้เราเข้าใจ

ในฐานะคนกลุ่มแรกที่บุกเบิกซอยนานาย่อมเห็นความเปลี่ยนแปลงก่อนและหลังอย่างชัดเจน วิกเตอร์เล่าว่าร้านใหม่ๆ ดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาซอยนี้เยอะขึ้น จากที่บางคนไม่เคยสังเกตเห็นซอยนี้มาก่อนเลย มองในแง่ดีคือร้านโชห่วย ร้านกาแฟที่เปิดมานานมีรายได้มากขึ้น แต่ชาวบ้านบางคนก็กลัวว่าถ้าย่านนี้ ‘ฮิต’ ขึ้นมา ค่าเช่าที่จะสูงขึ้นจนถูกไล่ที่ แต่เขาชิงบอกกับเราก่อนว่าเจ้าของที่ยืนยันว่าไม่มีทางทำเช่นนั้น

“บ้านและอาคารในย่านเยาวราชทำให้บรรยากาศแบบนี้ยังมีอยู่ ผมหวังว่าทุกคนจะมองเห็นความสวยงามแบบนี้ และรัฐบาลก็น่าจะส่งเสริมด้วย แต่ไม่ใช่ทำใหม่เสียหมด อยากให้ผสมความเก่ากับใหม่เข้าด้วยกันเหมือนย่านตลาดน้อย เลยต้องเตรียมพร้อมและบอกให้ทุกคนหันมาใส่ใจ”

เราถามต่อในฐานะชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เขาคิดยังไงกับเมืองแห่งนี้บ้าง “ผมคิดว่ากรุงเทพฯ เติบโตเร็วเกินไป โซนชั้นในอย่างสยาม สุขุมวิทเต็มไปด้วยห้าง ที่นี่อาจเป็นย่านสุดท้ายก็ได้ที่แสดงอัตลักษณ์ของกรุงเทพฯ อยู่ นี่คือมรดกของคุณที่ต้องรักษาไว้ ผมเป็นฝรั่ง อีกสัก 10 ปีก็ไม่อยู่ที่นี่แล้ว แต่ก็หวังว่ายังจะได้เห็นที่นี่อยู่” เดวิดบอกกับเรา

ทั้งคู่บอกกับเราว่าทุกห้องแถวในซอยนานาตอนนี้ถูกจับจองหมดแล้วและเพียงพอสำหรับการเป็นย่านเล็กๆ ที่ไม่อึกทึกเกินไป ครบทั้งแกลเลอรี่ คาเฟ่ บาร์ ร้านอาหารต่างชาติที่อยู่ตรงข้ามร้านราดหน้าเจ้าดัง มีโรงน้ำแข็ง ร้านโชห่วยและร้านทำผมที่เปิดมานาน

“บางคนที่เข้ามาในย่านนี้ก็อาจมองเห็นช่องทางใหม่ๆ ที่จะทำได้ ผมก็คิดว่ามันน่าสนุกดีถ้ามีคนมาทำงานร่วมกันเยอะขึ้น บางตึกแถวก็เปิดเป็น Artist Residence ให้ศิลปินมาเช่าทำงาน” เดวิดเสริมก่อนตอบว่าลำพังแค่แรงของ Cho Why คงไม่สามารถสร้างให้ที่นี่เป็นชุมชนศิลปะของทั้งเมืองได้ แต่ต้องอาศัยหน่วยงานที่ใหญ่กว่าอย่าง TCDC และแกลเลอรี่ อาร์ตสเปซหลายๆ แห่งร่วมมือกัน

“สิ่งที่ผมอยากบอกคือน่าจะมีคนทำพื้นที่แบบนี้มากขึ้นและมาช่วยเหลือกัน เหมือน Soy Sauce Factory หรือที่ Jam เราเองไม่ค่อยมีเงินหรอก แต่เราก็จะพยายามนะ” เดวิดบอกแล้วยิ้มให้เรา

FIND IT:
CHO WHY // เปิดเฉพาะในช่วงที่มีนิทรรศการหรืออีเว้นท์ต่างๆ // 080-7875734

Nahim Cafe & Handcraft: คาเฟ่และคราฟท์สตูดิโอในย่านเก่า

โลโก้ตัวการ์ตูนน่ารักกับเจ้าอัลปากาของคาเฟ่แห่งนี้ทำฉงนใจนิดหน่อยที่เห็นมันอยู่ท่ามกลางตึกแถวเก่า ขัดกับความคิดแรกที่ว่าคาเฟ่ฮิบๆ น่าจะอยู่ใจกลางเมืองที่เป็นแหล่งวัยรุ่น เราพกความสงสัยแล้วผลักประตูสีเขียวบานใหญ่ไปเจอโลกที่พิม-ชโลชา นิลธรรมชาติ ตั้งใจออกแบบให้เหมาะกับคนที่นี่ไว้แล้ว

“พิมคุ้นเคยกับย่านนี้แต่เด็กเพราะบ้านอาม่าอยู่ซอยตรงข้าม พอมาดูที่ก็ชอบตึกเก่าและเพดานสูง ดูโปร่งแม้ว่าพื้นที่จะเล็ก เราแค่คิดว่าไม่จำเป็นต้องไปตั้งคาเฟ่อัดอยู่ที่เดียวในเมืองอย่างสุขุมวิทหรืออารีย์แล้ว น่าจะหาย่านเก่าที่เราทำให้กลมกลืนกับเขา แต่พอคนเข้ามาในร้านเขาจะว้าว! มีอย่างนี้ด้วยเหรอ พิมว่ามันเจ๋งกว่าเราไปเปิดแข่งกันในย่านที่มีร้านกาแฟเยอะๆ อยู่แล้ว”

พอได้สถานที่ พิมก็ยังตั้งคอนเซปท์ของร้านให้เป็นตามสไตล์ตัวเอง คือใช้สีสันสดใสและตกแต่งด้วยงานฝีมือต่างๆ และเก็บกลิ่นอายของย่านเก่าชาวจีนอย่างช่องลม ฝ้าเพดานไม้เป็นเสน่ห์ที่ซุกซ่อนอยู่ นะฮิมคาเฟ่เลยมีคาแรคเตอร์ต่างจากร้านอื่นๆ ในซอยชัดเจน คือเป็นคาเฟ่นั่งชิลล์ต้อนรับทุกคนตั้งแต่กลางวันถึงสามทุ่ม จะนัดเจอเพื่อน ดื่มกาแฟและขนมอร่อยๆ เลือกซื้อสินค้าแฮนด์เมดก่อนไปต่อที่บาร์ต่างๆ ก็ได้ ซึ่งพิมมองว่าจุดเด่นของร้านต่างๆ ในซอยนานาก็คือคาแรคเตอร์ที่แตกต่างจนอาจจำกัดความว่าเป็นหมู่บ้านศิลปินก็ได้

“ทุกร้านในซอยไม่ได้สร้างมาอย่างฉาบฉวย ทุกคนตั้งใจหมดเลย ยิ่งเป็นย่านใหม่เราก็ต้องยิ่งคิดกันเยอะ ทุกร้านไม่ว่าจะเป็นบาร์หรือแกลเลอรี่เหมือนกัน แต่เรามีคอนเซปท์ที่ต่างกัน เหมือนทุกคนมีงานอาร์ตของตัวเองมาโชว์ ซึ่งงานอาร์ตบนโลกนี้ก็เยอะแยะไปหมด”

เสน่ห์ของย่านเก่าชัดขึ้นได้เมื่อมีคนใหม่เข้ามาต่อยอด แต่พิมย้ำว่าทั้งหมดต้องคุยให้เป็นแนวทางเดียวกันและไม่ทิ้งเอกลักษณ์เดิมที่มีอยู่ คงดีไม่น้อยถ้าคนรุ่นใหม่ในชุมชนเก่าหันหน้ามาคุยกันว่าจะทำยังไงให้ย่านของพวกเขาน่าอยู่ขึ้น เหมือนอย่างในซอยนานาที่เจ้าของร้านทุกร้านเขาตั้งกลุ่มเฟซบุ๊กไว้พูดคุย แลกเปลี่ยนกิจกรรมที่จะทำร่วมกันเสมอ

“ร้านทำผมข้างๆ เขาเปิดมานานมากแล้ว แม่เขาเล่าให้พิมฟังว่าลูกสาวเขาบอกว่าถ้าเรียนจบแล้วเขาจะมาช่วยปรับปรุงร้านให้นะ เพราะเขาเริ่มเห็นแล้วว่าย่านนี้ไม่กระจอก มันบิ้ลด์คนรุ่นใหม่ได้”

น่ารักไหมล่ะ 🙂

FIND IT:
Nahim Cafe & Handcraft // เปิดทุกวัน 09.00 – 21.00 น. (ปิดวันพุธ) // 02-6233449

Teens of Thailand: ดิบแต่จริง

ห้องลึกลับที่โบกทับด้วยกำแพงปูนพร้อมประตูไม้บานเล็กปิดแน่นหนา ผลักเข้าไปก็พบกับความดิบทั้งบรรยากาศและการตกแต่งที่คงความเก่าของห้องแถวเดิมไว้ แสงสลัวๆ ที่ส่องผ่านเข้ามาในร้านดูสงบ เหมาะกับคนที่มองหาบาร์เล็กๆ นั่งจิบเครื่องดื่มที่มีจินเป็นเบสซึ่งเป็นทีเด็ดของร้าน

กันต์ ลีฬหะสุวรรณ เล่าให้เราฟังว่า แรกเริ่มเขาช่วยทำไลท์ติ้งให้ร้านเทพบาร์ในซอยนานานี้ก่อนเลยได้คลุกคลีกับย่านนี้ จนมาสะดุดตาตึกแถวนี้ซึ่งเหลือเป็นห้องสุดท้าย พอพูดคุยกับณิกษ์ อนุมานราชธน หุ้นส่วนอีกคนที่รับหน้าที่เป็นบาร์เทนเดอร์ประจำร้าน ก็ตัดสินใจเปิดที่นี่ก่อนชักชวนเพื่อนฝูงอย่างคเชนทร์ วงศ์แหลมทอง, โน้ต-พงษ์สรวง คุณประสพแห่ง Dudesweet มาร่วมทีม

“ส่วนตัวเราชอบแถววงเวียน 22 กรกฎาอยู่แล้ว รู้กันว่าแถวนี้เสื่อมโทรม มีเด็กดมกาวและอาชญากรรมเยอะมาก แต่ก็เป็นของจริง เป็นวัยรุ่นไทยจริงๆ เราเลยตั้งชื่อร้านว่า Teens of Thailand เหมือนประชดหน่อยๆ ตั้งคำถามกับสังคมปัจจุบันนี้ว่าเด็กยุคนี้ต้องโตมาเจอกับอะไรบ้าง” กันต์เล่าคอนเซปท์ของ ToT ซึ่งต่างจากบาร์อื่นๆ ในซอยเดียวกัน อย่างเทพบาร์ที่ไทยจ๋ามาครบทั้งขิม ระนาด ฆ้องวง ซึ่งชัดว่าขายชาวต่างชาติ หรืออย่าง 23 bar&gallery ก็ฮาร์ดคอร์แบบสายศิลป์ ไม่มีเวลาเปิดปิดแน่นอน

“ชาวบ้านหลายคนก็มองว่ากลายเป็นร้านเหล้าไปทั้งซอยแล้ว แต่สุดท้ายก็ต้องโอเคกันหมดเพราะเราเข้ามาทำมาหากิน ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร จะให้ผมไปเช่าที่ทองหล่อเดือนละแสนผมก็ไม่มีตังค์หรอก เราทำร้านนี้ไม่ได้คิดว่ามันจะเก๋หรือเท่ยังไง แค่จะทำอะไรก็ได้ที่คนชอบและมาที่ร้านเรา สุดท้ายเราก็ต้องการเงินไปผ่อนรถผ่อนคอนโดแค่นั้นเอง” กันต์บอกกับเราอย่างตรงไปตรงมา

กันต์มองว่าซอยนานาเป็นพื้นที่ใหม่ที่ดึงดูดคนสมัยนี้ที่มักไปลองร้านใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งลูกค้าทุกคนก็แฮปปี้และเซอร์ไพร้ส์กับสิ่งที่ ToT เสนอ ไม่ว่าจะเป็นค็อกเทลสูตรพิเศษที่ณิกษ์ครีเอท บวกกับดนตรีเพลงบลูส์ มีคนเล่นเปียโนหรูในบรรยากาศที่ไม่คุ้นเคยอย่างย่านเก่าก็ทำให้ที่นี่มีเสน่ห์ในตัวของมันเอง

“คนเข้ามาในย่านนี้เยอะขึ้นจริง แต่เป็นไปไม่ได้หรอกที่มันจะฮิต เพราะมีอยู่แค่ซอยเดียวเอง ผมมองว่ามันจะเป็นอย่างนี้สัก 2-3 ปี คิดไว้แล้วว่าสักประมาณปีครึ่งร้านนี้จะคืนทุน ถ้ายังมีคนอยากมาอยู่ก็เปิดต่อ แต่ถ้าแผ่วเมื่อไหร่ผมก็จะมองหาย่านใหม่ๆ ที่พอมีโพเทนเชียลอย่างนี้อีก”

เราแอบถามกันต์ว่าตอนนี้เขามองเห็นย่านใหม่ที่ว่าหรือยัง และถือเอาคำตอบที่เขาบอกว่ายังไม่รู้เป็นโชคดีที่ยังมีเวลาให้ไปเยี่ยมเยียนบาร์วัยรุ่นไทยแห่งนี้อีกนาน

FIND IT:
Teens of Thailand // เปิดวันพุธถึงอาทิตย์ 18.00 – 24.00 น. // 081-4433784

ถึงของเก่าจะมีคุณค่า แต่ถ้าปล่อยทิ้งร้างก็เท่ากับไม่ใส่ใจ เราเลยเชียร์ให้หันมาอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างพอเหมาะพอเจาะ 

จากภาพที่เห็นและคำบอกเล่าของผู้มาใหม่ที่ทำให้ซอยนานาในวันนี้เปลี่ยนไปแล้วจากแต่ก่อน เราเชื่อว่าที่นี่ผสมเอกลักษณ์เก่าและความร่วมสมัยไว้ได้ในระดับพอดี

ส่วนอนาคต เป็นเรื่องของทุกคนว่าจะผลักให้มันเป็นอยู่อย่างนี้ หรือจะดีขึ้นได้กว่าเดิม
 

ข้อมูลบางส่วนจากนิตยสาร Ellemen Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2558
ภาพ: ภาณุพันธ์ วีรวภูษิต

Tell us what you think!

You may be interested

คุณครูอวดของขวัญชิ้นประทับใจจากลูกศิษย์ตัวน้อยผู้ไม่มีอะไรจะให้..แต่ก็หามาให้จนได้
AROUND THE WORLD
shares6195 views
AROUND THE WORLD
shares6195 views

คุณครูอวดของขวัญชิ้นประทับใจจากลูกศิษย์ตัวน้อยผู้ไม่มีอะไรจะให้..แต่ก็หามาให้จนได้

Sapparot - Dec 26, 2018

คุณครูชั้นประถมในสหรัฐฯ อวดของขวัญชิ้นโดนใจที่ได้รับในช่วงเทศกาลแห่งความสุขจากลูกศิษย์ตัวน้อยที่แม้ตัวเองจะไม่มีอะไรก็ยังตั้งใจสรรหาของขวัญมาให้คุณครูจนได้ ถึงจะเป็นแค่มาร์ชเมลโลว์จากซีเรียลอาหารเช้าธรรมดา ๆ แต่เพราะว่ามีความตั้งใจของหนูอยู่เต็มเปี่ยมในนั้น มันเลยพิเศษที่สุดเลย

10 รูปยอดไลค์สูงสุดใน Instagram 2018
LIFESTYLE
shares5427 views
LIFESTYLE
shares5427 views

10 รูปยอดไลค์สูงสุดใน Instagram 2018

Sapparot - Dec 25, 2018

10 รูปยอดไลค์สูงสุดจาก Instagram ปี 2018 รวมแล้วมาจากคนดังระดับโลกเพียง 5 คนเท่านั้น โดยมีหนูน้อย Stromi ลูกสาว Kylie Jenner เรียกยอดไลค์กดหัวใจให้คุณแม่ได้อย่างดีเชียว

อาทิตย์และดวงจันทร์ Rose Céleste เครื่องประดับน่ารักจาก Dior
Accesseries
shares4811 views
Accesseries
shares4811 views

อาทิตย์และดวงจันทร์ Rose Céleste เครื่องประดับน่ารักจาก Dior

Sapparot - Dec 24, 2018

Dior เผยโฉมแอคเซสซอรี่ชิ้นใหม่ Rose Céleste จี้กลมรูปพระอาทิตย์-พระจันทร์ งานแฮนด์เมดสุดปราณีตจากทองคำและเปลือกหอยมุก