Upstarts: เปิดพื้นที่ศิลปะร่วมสมัยที่ Kalwit Studio & Gallery
มองจากสายตาคนนอกวงการศิลปะ ช่วง 1-2 ปีหลังเราได้แวะไปเยี่ยมชมผลงานของศิลปินอิสระตามแกลเลอรี่ใหม่ๆ ทั่วกรุงเทพมากขึ้น โซนที่โดดเด่นสุดคงหนีไม่พ้นสีลม-สี่พระยาที่แต่ละแกลเลอรี่อยู่ใกล้กัน สามารถเดินเที่ยวได้ครบใน 1 คืน แต่หากเขยิบถอยมาอีกนิดในย่านใจกลางเมือง ก็มีความเคลื่อนไหวเล็กๆ ของแกลเลอรี่และสตูดิโอศิลปะอย่าง Kalwit Studio & Gallery มากว่าครึ่งปีแล้ว
เริ่มตั้งแต่ ‘เสี้ยน (WOOD COULD)’, ‘Equable’ มาจนถึงนิทรรศการปัจจุบัน ‘PARP-PIM mini-print’ เราสนใจการรวมเอาศิลปินไทยและต่างชาติหน้าใหม่มาร่วมงานกันจำนวนมาก (นิทรรศการล่าสุดมีศิลปินมากถึง 58 คน) ไม่ง่ายที่แกลเลอรี่น้องใหม่จะสร้างคอนเนคชั่นจากศิลปินได้มากขนาดนี้ เป็นคำถามที่เราตั้งต้นสงสัยและอยากรู้คำตอบจากวาฬ จิรชัยสกุล ศิลปินและผู้ก่อตั้งพื้นที่นี้ให้มีชีวิตชีวาขึ้นในซอยร่วมฤดี
บ้าน + แกลเลอรี่ + สตูดิโอ
วาฬเล่าให้ฟังก่อนว่าที่นี่เริ่มจากเขาและคุณพ่อที่เป็นศิลปินแค่อยากรีโนเวทบ้านให้สามารถทำงานศิลปะได้ หลังจากปรับพื้นที่ให้ใหญ่ขึ้น มีพื้นที่ส่วนกลางไว้แฮงค์เอาท์กับเพื่อนๆ ก็เริ่มนำผลงานของตัวเองมาแขวนตามผนัง ก็พอมองเห็นว่าน่าจะเป็นแกลเลอรี่ได้ เลยเริ่มชวนเพื่อนๆ สมัยเรียนคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์จากมหาวิทยาลัยศิลปากรมาแสดงผลงาน
“เราเห็นว่าศิลปินเยอะขึ้นเรื่อยๆ แต่แกลเลอรี่ไม่ได้เยอะตาม บวกกับตอนเราเรียนจบก็มีคนให้ทำจ็อบหลายอย่าง ทั้งงานภาพพิมพ์และงานเพ้นท์ติ้ง เราคิดว่าต้องทำงานในพื้นที่ที่แสดงงานได้ด้วย ก็เลยเป็นแกลเลอรี่ที่มีสตูดิโอไปในตัว ทำให้เสริมกันไป น่าจะทำให้คนที่มาดูงานเข้าใจโปรเซสของการทำงานศิลปะมากขึ้น เข้าใจคุณค่าของงานมากขึ้นด้วย”
พื้นที่ที่ไม่มีเส้นขีดกั้น
คาแรคเตอร์ของแกลเลอรี่ต่างๆ เป็นไปตามตัวตนของเจ้าของ บางแห่งเน้นขายผลงานศิลปะกันจริงจัง เต็มไปด้วยนักสะสม บางที่ก็เน้นปาร์ตี้และมีงานศิลปะแค่ส่วนประกอบ แต่ที่ Kalwit Studio & Gallery จะเป็นกึ่งๆ เพราะวาฬตั้งใจให้เป็นพื้นที่ของคนทุกวัยไม่ว่าจะเด็กรุ่นใหม่หรือศิลปินรุ่นเก๋า
“อยากให้เป็นแกลเลอรี่ที่คนเข้ามาแล้วอินสไปร์เชิงเทคนิคได้ อยากให้ศิลปินมาดูงาน แลกเปลี่ยนวิธีการทำงานกัน หรือเด็กที่เรียนศิลปะได้เข้ามาดู ถามว่าชิ้นนี้ทำยังไง เราเป็นคอมมูนิตี้ให้ทั้งผู้ใหญ่ที่พร้อมซื้องานศิลปะ คนที่เริ่มดูงาน และศิลปินมาพูดคุยกัน อยากให้เป็นความคึกคักแบบนั้นมากกว่าให้ศิลปินอยู่ตรงกลาง ทุกคนยืนล้อมชื่นชม แล้วจบที่การซื้อขายเท่านั้น”
งานเปิดนิทรรศการแต่ละครั้งของที่นี่เลยคล้ายเป็นไฮไลท์ให้ศิลปินกับผู้ชมได้เจอกัน เสริมด้วยปาร์ตี้สนุกๆ จัดเต็มทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และดนตรีที่วาฬเองยังบอกว่าไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ แต่เป็นความมันที่ทำให้ที่นี่ไม่เหมือนใคร
ศิลปะของศิลปิน
ว่ากันตามตรง วงการศิลปะของไทยไม่ใหญ่ไปกว่าที่จะรู้จักกัน วาฬอาศัยคอนเนคชั่นตั้งแต่เริ่มทำงานสมัยยังเป็นนักศึกษาพาเขาไปรู้จักคนนู้นคนนี้ เขาเข้าหาศิลปินก่อนและเมื่อเห็นว่างานของใครพอเข้ากันได้ก็ชวนมาจอยกันในโปรเจกต์หนึ่ง “อย่างงานเสี้ยน เราก็แค่ให้เขียงไป อยากเห็นว่าศิลปินจะตีกลับมายังไงบ้าง หรือนิทรรศการภาพพิมพ์นี้ เราก็มีคอนเนคชั่นกับศิลปินต่างประเทศ แล้วก็ขอให้เพื่อนจากจุฬาฯ รุ่นน้องที่ศิลปากรส่งงานมาจอยกันเป็นชิ้นเล็กๆ”
“คนที่เราชอบคุยด้วยถ้าไม่ความคิดดีก็ฝีมือดี เวลาเรานึกอยากจัดนิทรรศการอะไรขึ้นมา ก็จะมีชื่อขึ้นมาเองในหัวเลย บางทีศิลปินเขาก็มีเพื่อนที่สไตล์ใกล้เคียงกัน ชวนมาจอยด้วยได้ไหม เราไม่เห็นว่าเสียหายก็เลยไหลมาเทมา” วาฬเล่ากระบวนการตามหาศิลปินหน้าใหม่ๆ ที่พร้อมมาสนุกกับพื้นที่นี่ด้วยกัน แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่คัดเลือกเลย อย่างน้อย วินัยของศิลปินที่แสดงผ่านแนวคิดงานหรือเทคนิคที่พิถีพิถันอย่างใดอย่างหนึ่งก็จำเป็น
จำนวนศิลปินหลักสิบไม่ใช่ปัญหาระหว่างทำงานร่วมกัน เพราะส่วนใหญ่เป็นศิลปินรุ่นเด็กๆ แต่วาฬย้ำว่าสิ่งสำคัญคือการให้เกียรติและเคารพหน้าที่กัน
“เราเพิ่งเริ่มต้นเอง เลยเปิดกว้างให้ศิลปินมองว่าผนังของเราจะแขวนผลงานของเขาดีไหม เราไม่เคยมองว่างานแบบไหนไม่ควรอยู่ในบ้านเรา เรามองแต่ว่าถ้าศิลปินอยากมาจอยกับเรา เราจะจัดงานรูปแบบไหนให้แฟร์กับเขา อีเว้นท์ที่จัดควรเป็นแนวไหน จะติดตั้งผลงานยังไง”
จากศิลปินสู่ธุรกิจศิลปะ
นอกจากส่วนแบ่งรายได้จากการขายงานศิลปะ ที่นี่ยังเปิดคอร์สสอนทำภาพพิมพ์ในวันเสาร์อาทิตย์แก่คนที่สนใจ ให้ศิลปินมาเช่าสตูดิโอ ยืมอุปกรณ์เครื่องมือทำงานภาพพิมพ์ แถมวาฬเองก็มีงานภาพพิมพ์เข้ามาตลอด จากที่คิดว่าจะทำแกลเลอรี่เพลินๆ เลยต้องจริงจังขึ้นเพื่อให้พื้นที่นี้ไปต่อได้อย่างสนุก
การเปิดแกลเลอรี่ถือเป็นการทดลองทำงานร่วมกับผู้อื่นของวาฬด้วย จากคนที่ทำงานศิลปะตามใจตัวเอง เนื้อหาพูดเรื่องส่วนตัว ความกดดันของชีวิตศิลปินมาตลอด เขาเริ่มย้ายไปสะท้อนค่านิยมของสังคมไทยปัจจุบัน และเปิดกว้างเรื่องคุณค่าและความสวยงามของงานศิลปะมากขึ้น
“เมื่อก่อนจะมองแค่ว่าทำยังไงให้งานตัวเองดีขึ้น สวยขึ้น แต่พอทำงานร่วมกับคนอื่นก็เข้าใจว่าดีของคนอื่นเป็นยังไง สวยของคนอื่นเป็นยังไง งานศิลปะมันแล้วแต่เลยว่าใครจะสัมผัสได้ มีบางชิ้นเราไม่คิดว่าจะขายได้ คือศิลปินเก่งแหละ แต่อันนี้ดูไม่ตลาด แต่ก็มีลูกค้าที่ชอบแล้วซื้อไปเหมือนกัน บางคนบอกทำไมชิ้นนี้เชยจัง แต่อีกคนเดินมาดูแล้วเขาอาจจะอินก็ได้”
“ถ้าแขวนงานแล้วไม่มีคนซื้อเลย แค่มีพื้นที่ให้คนได้เข้ามาปะทะกับศิลปะ ให้เขาค่อยๆ ซึมซับไป เราก็รู้สึกว่ามีส่วนช่วยให้เขาสนใจงานศิลปะมากขึ้นแล้วล่ะ”
FIND IT:
Kalwit Studio & Gallery
119/14 ซอยร่วมฤดี 2 ถนนวิทยุ
วันอังคาร-วันอาทิตย์ // 10.00 – 18.00 น.
Tel. 02-2544629
ภาพ: ภาณุพันธ์ วีรวภูษิต
Upstarts: ล้วงเคล็ดลับความสำเร็จของแบรนด์ธุรกิจอินเทรนด์ ชวนกระตุกไอเดียต่อยอดอีกมากมาย
มีธุรกิจใดน่าสนใจไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก ส่งมาบอกเราได้ที่ [email protected]
You may be interested
คุณครูอวดของขวัญชิ้นประทับใจจากลูกศิษย์ตัวน้อยผู้ไม่มีอะไรจะให้..แต่ก็หามาให้จนได้
Sapparot - Dec 26, 2018คุณครูชั้นประถมในสหรัฐฯ อวดของขวัญชิ้นโดนใจที่ได้รับในช่วงเทศกาลแห่งความสุขจากลูกศิษย์ตัวน้อยที่แม้ตัวเองจะไม่มีอะไรก็ยังตั้งใจสรรหาของขวัญมาให้คุณครูจนได้ ถึงจะเป็นแค่มาร์ชเมลโลว์จากซีเรียลอาหารเช้าธรรมดา ๆ แต่เพราะว่ามีความตั้งใจของหนูอยู่เต็มเปี่ยมในนั้น มันเลยพิเศษที่สุดเลย
10 รูปยอดไลค์สูงสุดใน Instagram 2018
Sapparot - Dec 25, 201810 รูปยอดไลค์สูงสุดจาก Instagram ปี 2018 รวมแล้วมาจากคนดังระดับโลกเพียง 5 คนเท่านั้น โดยมีหนูน้อย Stromi ลูกสาว Kylie Jenner เรียกยอดไลค์กดหัวใจให้คุณแม่ได้อย่างดีเชียว
อาทิตย์และดวงจันทร์ Rose Céleste เครื่องประดับน่ารักจาก Dior
Sapparot - Dec 24, 2018Dior เผยโฉมแอคเซสซอรี่ชิ้นใหม่ Rose Céleste จี้กลมรูปพระอาทิตย์-พระจันทร์ งานแฮนด์เมดสุดปราณีตจากทองคำและเปลือกหอยมุก