สำรวจวัฒนธรรมกาแฟไปกับเพจ Picolofolkvento
ปฏิเสธไม่ได้ว่ากาแฟเป็นเครื่องดื่มที่เราทุกคนคุ้นเคยกับมัน ตื่นเช้ามาก็ชงกาแฟร้อนดื่มพลางเช็คข่าวจากเฟซบุ๊ก แวะซื้อลาเต้เย็นสักแก้วก่อนเข้าออฟฟิศ ตกบ่ายง่วงเหงาก็ได้คาปูชิโนช่วยดึงหนังตา ทำให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราเลยเห็นร้านกาแฟและคาเฟเก๋ๆ ทยอยเปิดกันทั่วทุกมุมเมือง
ในจำนวนร้านกาแฟมากมายมีตั้งแต่ร้านชงง่ายดื่มง่าย ร้านที่เน้นบรรยากาศสบายๆ และร้านที่ใส่ใจทุกกระบวนการตั้งแต่เมล็ดกาแฟจากไร่ ส่งเข้าสู่เครื่องคั่วกาแฟ และพิถีพิถันระดับอุณหภูมิในการชง เพื่อให้ได้กาแฟหนึ่งแก้วเป็นกาแฟที่ดีที่สุด
คำถามคือ ทำไมเราถึงต้องดื่มกาแฟที่ดีและพิเศษอย่างนี้?
เราเจอเพจเฟซบุ๊ก Picolofolkvento ที่เล่าเรื่องวัฒนธรรมกาแฟของคนไทยและโลกอย่างเจาะลึก (ที่คนดื่มทั่วไปอาจไม่ค่อยรู้) สืบไปสืบมาจนรู้ว่าเจ้าของเพจคือพลอย-ผกาวัลย์ ติรไพโรจน์ บาริสต้าและคนคั่วกาแฟแห่งร้าน Roots Coffee Roasters ย่านเอกมัยที่คอกาแฟหลายคนรู้จักดี แถมยังพกดีกรีเป็นถึงกรรมการการแข่งขันบาริสต้าประจำประเทศไทยและกรรมการการแข่งขันลาเต้อาร์ตอีกด้วย นี่เลยเป็นเหตุผลที่เราพกคำถามเกี่ยวกับวงการกาแฟไทยมากมายไปพูดคุยกับพลอย
จากคนดื่มสู่คนชงกาแฟ
ตอนแรกเราทำธุรกิจเสื้อผ้ากับเพื่อน แต่เจ๊งไปตอนช่วงน้ำท่วม ก็คิดว่าฉันจะทำงานอะไรดีนะ เราชอบนั่งร้านกาแฟ งั้นทำงานร้านกาแฟดีกว่า จะได้ประหยัดเงินไม่ต้องซื้อกาแฟดื่ม เลยไปทำในคาเฟ่เล็กๆ ย่านอารีย์ ฝึกชงทุกวัน ตอนนั้นแค่เทลาเต้อาร์ตได้ 2 ลายก็ดีใจแล้ว แต่ลูกค้าจะชอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับกาแฟ ตอนนั้นเราตอบไม่ได้เพราะไม่มีความรู้เลย ก็โชคดีได้มาทำงานที่ Roots ซึ่งตอบเราได้ว่ากาแฟเป็นมายังไง ก่อนจะคั่วออกมาเป็นเมล็ดต้องผ่านขั้นตอนอะไรมาบ้าง
ทีแรกเราก็สองจิตสองใจว่าเราชอบมันจริงๆ หรือเปล่า แต่ได้คุยกับพี่ที่ร้าน ถามว่าอาชีพคนชงกาแฟมันจะไปได้ไกลแค่ไหน พี่เขาก็เชื่อว่าอาชีพนี้ในไทยยังมีน้อยมาก ต่อไปบาริสต้าจะต้องมีเกียรติ เป็นที่ยอมรับ ต้องมีคนอยากจ้างเราเยอะขึ้น งั้นโอเค ฉันเลือกที่จะเดินหน้าต่อในการทำกาแฟละกัน
การตัดสินในสามแก้วกาแฟ
ก่อนเป็นกรรมการตัดสิน เราได้ไปแข่งบาริสต้าระดับอาเซียนก่อน ตอนนั้นคิดแค่ว่าไปเอาประสบการณ์ แต่พอถึงหน้างานก็รู้เลยว่าเราพลาดมาก ควรเตรียมพร้อมมากกว่านี้ เพราะบาริสต้าเพื่อนบ้านเราไปไกลมากทั้งเรื่องภาษา การพรีเซนต์และดำเนินเรื่องซึ่งคนไทยยังอ่อนเรื่องนี้ เพราะการแข่งบาริสต้าก็เหมือนการขายกาแฟอยู่หน้าบาร์ เราต้องนำเสนอกาแฟตัวนั้น บอกกรรมการได้ว่ากาแฟนี้มาจากที่ไหน ทำไมเราเลือกตัวนี้ รสชาติเป็นยังไง
ส่วนการตัดสิน แต่ละคนจะต้องชงกาแฟ 3 ดริ้งค์ คือเอสเพรสโซ 4 แก้ว ก็จะดูเรื่อง taste balnce, flavor, mouthfeel เช่นถ้าเราบอกว่า B-Blend มี mouthfeel แบบครีมมี่ มีรสเปรี้ยวมากกว่าหวาน กรรมการก็จะจดและถ้ามันได้ตามนี้คะแนนก็จะเยอะ ซึ่งก็ลิ้งค์กับเทคนิคการชงด้วยว่าเราทำให้รสออกมาเป็นอย่างนี้ไหม ดริ้งค์ที่สองคือคาปูชิโน 4 แก้ว ก็จะดูคุณภาพโฟม อุณหภูมิของนมไม่ร้อนไม่เย็นไป และรสชาติของเอสเพรสโซยังต้องเด่นอยู่ ส่วนดริ้งค์ที่ 3 คือ Signature Drink ดูว่าเราสามารถเบลนด์เมล็ดนี้ทำอะไรได้บ้าง เช่น B-Blend มีพีนัทบัตเตอร์ มีรสช็อกโกแลต เราก็จะใส่ช็อกโกแลต ใส่พีนัทบัตเตอร์ไป ลิ้งค์ว่าเราอยากไฮไลท์รสชาตินี้ แต่ถ้าเอาส้มใส่ มันก็ไม่เมคเซนส์
กาแฟที่ดี?
จริงๆ ตอบยากนะเพราะแต่ละคนก็มองหารสชาติกาแฟที่ชอบต่างกันไป แต่ที่เราทำอยู่คืออยากให้กาแฟมีรสชาติบาลานซ์ หวาน คือขมได้แต่ขมต้องเปลี่ยนเป็นหวาน หรือเปรี้ยวได้แต่เปรี้ยวต้องมี flavor อย่างอื่นด้วย และคนต้องเข้าถึงกาแฟง่าย ถ้าขมเกินไปคนก็คงไม่อยากกิน เปรี้ยวมากเกินไปคนก็ไม่เข้าใจ และเราต้องบอกลูกค้าด้วยว่าทำไมกาแฟถึงเปรี้ยว ทำไมถึงขม เปรี้ยวแบบนี้ดีหรือไม่ดี
ก่อนเป็นหนึ่งแก้วกาแฟ
กว่าจะเดินทางเป็นหนึ่งแก้วกาแฟมันใช้เวลาร่วมปี ตั้งแต่เกษตรกรที่อยู่กับมัน 7 เดือน มีขั้นตอนการ process คั่วกาแฟอาจใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที ชงกาแฟอย่างมากก็ 4 นาที แต่ถ้าเรารู้ว่ากาแฟแก้วนี้เขาตั้งใจทำ เกษตรกรตั้งใจปลูก คนคั่วตั้งใจคั่ว แต่ละกระบวนการมันมีแพสชั่น มีสกิลอยู่ มันก็เป็นแวลู่ของมันที่ลูกค้าจะจ่ายเงิน 100 บาท เราเลยคิดว่าถ้าเขารับรู้หรือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้น มันน่าจะดีกว่า และกาแฟสเปเชียลตี้ก็ดูที่รสชาติจริงๆ คนที่ได้ดื่มเขาก็จะรู้สึกดีเหมือนได้ทานข้าวที่อร่อย
กาแฟไทยต้องไปต่อ
ช่วงประมาณ 2 ปีนี้คนไทยเริ่มสนใจในรสชาติกาแฟมากขึ้น อยากลองทานกาแฟที่สเปเชียลตี้มากขึ้น ก็เป็นนิมิตหมายที่ดี แถมร้านกาแฟตอนนี้ก็โตขึ้นเยอะมาก เราได้คุยกับลูกค้าชาวอังกฤษ เขาบอกว่าที่นั่นไม่มีอะไรเลย คาเฟ่ในไทยดีกว่าและใส่ใจเรื่องวิธีการทำเยอะมากๆ เราดีใจที่ตอนนี้คาเฟ่ไทยกำลังยกระดับให้คนต่างชาติเห็นว่ากาแฟไทยไม่ใช่กาแฟนมข้มอีกแล้ว มันกำลังดีขึ้นเรื่อยๆ และยังมีแนวโน้มพัฒนาได้อีกเยอะ อย่างที่ Roots เราก็ไม่เคยบอกว่าเราเป็นโรงคั่วที่ดีที่สุดหรือเก่งที่สุด มันยังไม่สิ้นสุด ในวงการบาริสต้าเองก็เก่งขึ้นเยอะมากและกำลังพัฒนา โชคดีที่เราได้เป็นกรรมการก็เลยได้เห็นความสามารถของบาริสต้าที่เราไม่รู้จักมาก่อน
ประเทศไทยโชคดีนะที่มีคนปลูกกาแฟอยู่ในประเทศ อย่างร้านของเราก็ใช้กาแฟจากไร่ที่เชียงราย ตอนแรกเขาไม่มีความรู้ว่าต้องปลูกกาแฟยังไงให้ดี ก็ปลูกตามหน้าที่ไป พอเราเข้าไปช่วย เขาก็ยินดีที่จะทำให้ดีขึ้น กำไรที่ได้ต่อแก้วจะคืนกลับไปให้เขาพัฒนาการทำไร่ของเขาต่อ เลยเป็นเหตผลว่าทำไมคนดื่มต้องรู้ที่มา และทำไมเกษตรกรต้องปลูกกาแฟให้ดี
เราเคยจัดอีเว้นท์ให้เกษตรกร คนดื่ม และคนในเชนมาเจอกัน เกษตรกรไม่เคยดื่มกาแฟของตัวเอง ไม่เคยเห็นว่ากาแฟตัวเองไปต่อยังไง วันนั้นเหมือนกระตุ้นเขาว่าเขาต้องทำกาแฟที่ดีเพราะคนทานแฮปปี้ เกษตรกรก็แฮปปี้เหมือนกัน
การบริการ: หัวใจของคลื่นลูกใหม่ในวงการกาแฟ
เรื่องนี้เราแปลมาจากบทสัมภาษณ์ของ Matt Perger ที่เราเคยไปเวิร์คช้อปกับเขาที่อินโดนีเซีย แต่เดิมคลื่นลูกที่ 3 คือร้านกาแฟผลิตกาแฟที่มีคุณภาพมากขึ้น คนดื่มเองก็อยากรู้ที่มาของกาแฟมากขึ้น แต่สำหรับคลื่นลูกที่ 4 คือการบริการของบาริสต้าก็สำคัญ พอเขียนเรื่องนี้ไปทำให้มีคนเข้ามาถกเถียงมากมายว่าจริงเหรอ แต่ที่เราต้องการพูดคือไม่ได้บอกว่าส่วนที่ทำอยู่ตอนนี้ไม่สำคัญ แต่ต้องควบคู่กับการบริการ บาริสต้าควรเข้าไปคุยกับลูกค้ามากขึ้น ให้ความรู้เขา เราคิดว่าน่าจะเป็นเทรนด์ที่กำลังจะมา
Matt บอกว่าลูกค้าไม่เข้าใจหรอกเรื่องค่า extraction ในกาแฟ เขาสนใจแค่ว่ากาแฟอร่อยหรือเปล่า จะทำยังไงให้ลูกค้าเข้าถึงกาแฟจากคนกลุ่มเล็กเป็นคนกลุ่มใหญ่มากขึ้น สมมติเรามีกาแฟ single origin เยอะมาก แต่พอลูกค้ามาถึง เราไม่ได้พูดถึงกาแฟแต่ให้เขาเลือกดื่มเลย ถ้ามีการบริการมากขึ้น อธิบายว่ากาแฟเอธิโอเปียรสชาติอย่างนี้ คนก็จะเข้าใจมันมากขึ้น
Picolofolkvento
เราเขียนบล็อกเพื่อจะแชร์เรื่องราวที่กาแฟพาเราไปเจอให้กับคนอื่นๆ ได้เข้าใจ เข้าถึงวงการกาแฟว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง มันเหมือนการผจญภัยและไดอารี่ที่เราถ่ายทอดออกมา อย่างแรกเลยคือกาแฟพาเราไปเจอเพื่อนมากมาย ทั้ง Coffee Hunters จากสิงคโปร์ กรรมการแข่งขันบาริสต้าระดับโลก แชมป์จากสิงคโปร์ จากมาเลเซีย เกษตรกรไทย เราอยากถ่ายทอดว่าแต่ละคนเขาตั้งใจทำอะไรอยู่บ้าง และจะเป็นแรงกระตุ้นให้คนไทยฮึดขึ้นมาสู้บ้างแล้ว
Roots Coffee Roasters ย่านเอกมัยจะเปิดให้บริการถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ก่อนย้ายไปเปิดในโครงการ Common ที่ซอยทองหล่อ
บทความนี้สนับสนุนโดย
หาดีลโรงแรมฮอตๆ ได้ทุกที่ทุกเวลาทางเว็บไซต์และโมบายแอพพลิเคชั่นจาก HotelsCombined
You may be interested
คุณครูอวดของขวัญชิ้นประทับใจจากลูกศิษย์ตัวน้อยผู้ไม่มีอะไรจะให้..แต่ก็หามาให้จนได้
Sapparot - Dec 26, 2018คุณครูชั้นประถมในสหรัฐฯ อวดของขวัญชิ้นโดนใจที่ได้รับในช่วงเทศกาลแห่งความสุขจากลูกศิษย์ตัวน้อยที่แม้ตัวเองจะไม่มีอะไรก็ยังตั้งใจสรรหาของขวัญมาให้คุณครูจนได้ ถึงจะเป็นแค่มาร์ชเมลโลว์จากซีเรียลอาหารเช้าธรรมดา ๆ แต่เพราะว่ามีความตั้งใจของหนูอยู่เต็มเปี่ยมในนั้น มันเลยพิเศษที่สุดเลย
10 รูปยอดไลค์สูงสุดใน Instagram 2018
Sapparot - Dec 25, 201810 รูปยอดไลค์สูงสุดจาก Instagram ปี 2018 รวมแล้วมาจากคนดังระดับโลกเพียง 5 คนเท่านั้น โดยมีหนูน้อย Stromi ลูกสาว Kylie Jenner เรียกยอดไลค์กดหัวใจให้คุณแม่ได้อย่างดีเชียว
อาทิตย์และดวงจันทร์ Rose Céleste เครื่องประดับน่ารักจาก Dior
Sapparot - Dec 24, 2018Dior เผยโฉมแอคเซสซอรี่ชิ้นใหม่ Rose Céleste จี้กลมรูปพระอาทิตย์-พระจันทร์ งานแฮนด์เมดสุดปราณีตจากทองคำและเปลือกหอยมุก