NEW RELEASE: ละครและศิลปะอื่นๆ ของเบส-วิชย อาทมาท

July 12, 2018
1463 Views

ละครเวทีดูเป็นศิลปะในแสงสลัวๆ เมื่อเรานึกถึง เพราะนอกจากละครโปรดักชั่นใหญ่ที่ใช้นักแสดงดังๆ เป็นแม่เหล็กดึงดูดแล้ว อีกมุมของวงการเดียวกัน ยังมีคนทำละครอีกหลายคนใช้ศาสตร์แห่งการแสดงนี้บอกเล่าประเด็นอื่นๆ มากกว่าแค่ความบันเทิงรอให้เราเข้าไปสัมผัส

เบส-วิชย อาทมาทคือหนึ่งในคนทำละครรุ่นใหม่ที่เราสนใจ ดูจากผลงานที่เขากำกับซึ่งได้รับคำชมไปไม่น้อย ตั้งแต่ ‘6 ตุลาปาร์ตี้’ (2555) ที่เพิ่งกลับมาแสดงซ้ำในรูปแบบการอ่านบท, ‘บ้าน Cult เมือง Cult’ (2556) และ ‘in เธอ’s view: a documentary theatre’ (2557) พอได้ข่าวว่าเดือนนี้เบสกำลังซุ่มซ้อมละครเวทีเรื่องใหม่ “เพลงนี้พ่อเคยร้อง (3 Days In May)” เราเลยชวนเขามาพูดคุยถึงเรื่องราวก่อนเริ่มแสดงจริง

มากกว่านั้นคือเบสเพิ่งกระโดดเข้าไปทำโปรเจกต์ soundscape “เสียงหลง” ในนิทรรศการ Intimate Politik ร่วมกับศิลปินคนอื่นๆ แถมยังมีผลงานภาพถ่ายประกอบการแสดง Have You Seen Me Lately? ของนานา เดกิ้น ยิ่งทำให้เราสนใจเขามากขึ้นในฐานะคนคนหนึ่งที่มีความสามารถหลากหลาย

และเราน่าจะได้เรียนรู้วิธีการทำงานหลายอย่างจากเขาคนนี้

“เพลงนี้พ่อเคยร้อง” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร

มันเป็นละครเบาๆ เล่าเรื่อง 3 วันใน 3 ปี คือ 17 พฤษภาคม 53, 19 พฤษภาคม 55 และ 22 พฤษภาคม 57 ที่พี่สาวกับน้องชายกลับมาเจอกัน ทำบุญให้พ่อที่ตายไปแล้ว พี่น้องที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน พอกลับมาเจอกันก็จะประดักประเดิด ต่อติดบ้างไม่ติดบ้าง ร่วมกันเม้าท์พ่อ มีทั้งความห่างและความใกล้ เราก็สนใจตรงนั้น และเรื่องพ่อเป็นสิ่งที่ทั้งสองคนมีความทรงจำร่วมกัน และก็มีความทรงจำของใครของมันอยู่แล้ว การที่เราเรียกใครสักคนว่าพ่อก็เป็นไปได้หลายแบบ ในชีวิตเรายังเรียกอีกหลายคนว่าพ่อว่าแม่

จุดเริ่มต้นที่อยากนำเสนอเรื่องนี้ขึ้นมา

เบสสนใจเรื่องวันอยู่แล้วครับ งานเบสจะเกี่ยวกับวันอยู่เบาๆ อย่างเรื่อง ‘6 ตุลาปาร์ตี้’ ก็ชัดเจนว่าเป็นชีวิตประจำวันที่เราแชร์ร่วมกับคนเมืองได้ดี น้ำจะท่วมแล้วเรารับมือกับมันยังไง หรือเรื่อง ‘บ้าน Cult เมือง Cult’ ก็ปักหมุดให้รอบสุดท้ายเล่นวันที่ 24 มิถุนายน ช่วงนั้นเรารับสื่อเยอะก็รู้สึกเศร้าว่าทำไม agenda ที่สื่อสารกับเรายังเหมือนเดิม มันหล่อหลอมให้สังคมเรายังเป็นเหมือนเดิม
 

อย่างเรื่องนี้จริงๆ เคยเป็นละครสั้นมาก่อนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว (ในโปรเจกต์ ‘One Fine Day in One Fine Room’ (2556) แสดงที่ The Reading Room) เราจับฉลากได้ช่วงเช้ามืดและได้นักแสดงสองคนคือพี่อิ๋ว (ปานรัตน กริชชาญชัย) กับชวน (จตุรชัย ศรีจันทร์วันเพ็ญ) เรื่องก็เลยกลายเป็นสองพี่น้องเชื้อชาติจีนมาคุยกันในเวลาเช้ามืดเพื่อจะทำบุญให้พ่อ สองคนนี้เป็นนักแสดงที่เรารู้สึกปลอดภัย เก่งกันทั้งคู่ และอยู่ด้วยกันแล้วเคมีดีนะ

สองนักแสดงในเรื่องผู้ร่วมสร้างบทสนทนา
(ภาพ: For WhaT theatre)

เราได้ทดลองอะไรใหม่ๆ ในละครเรื่องนี้บ้าง

เราทดลองในกระบวนการ เบสมีแค่เรื่องจริงๆ ซีนหนึ่ง สอง สามเป็นอย่างนี้ แต่บทสนทนาสร้างกับนักแสดงทั้งหมดเลย เอาเขามานั่งคุยกันไปเรื่อยๆ โยนโน่นโยนนี่ให้เขา เราก็เก็บเกี่ยวมาทำเป็นบท พอนักแสดงซ้อมก็ค่อยๆ เอามาจัดวางเรียงเป็นเรื่องไป ซึ่งเป็นสิ่งที่เบสทำอยู่แล้วในละครหลายๆ เรื่อง

ละครจะมีเส้นเรื่องบางๆ ของมันอยู่ เริ่มจากอัพเดทชีวิตปี 53, 55, 57 แล้วก็มาเป็นเรื่องอะไรที่พูดซ้ำทุกปี เหมือนเวลาเราเจอญาติบางคน เจอพี่เจอน้อง ก็จะมีเรื่องเก่าๆ พูดถึงทุกครั้งที่เจอกัน มีเรื่องที่คุยแล้วแป้ก และเรื่องปัจจุบันที่มาแชร์กัน พอคุยกันได้ พอเราโยนไปให้นักแสดงก็จะมีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น เคยเก็บความลับอะไรให้พ่อ พ่อในความทรงจำของทั้งสองคนเป็นยังไง เพราะเรารู้สึกว่าพ่อของใครก็ของมันหรือเปล่า

พี่อิ่๋วเคยทำละครเรื่อง ‘กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีแม่กับ…ฉัน’ (2554) ตอนนั้นพี่อิ๋วพูดว่า “Memory is a tricky business” เราก็รู้สึกว่าใช่เลย เราเลือกจำในสิ่งที่เราอยากจำ

หลงเสน่ห์อะไรในละครเวที

เบสเริ่มดูละครเวทีโรงเล็กตอนปี 4 เห็นว่าห้องแค่นี้มันทำเป็นละครได้นะ มันใกล้ชิดและทำงานกับเรามาก หมายถึงง่ายที่เราจะควบคุมพื้นที่แค่นี้ พอเรียนจบก็ได้มาทำประสานงานเทศกาลละครกรุงเทพฯ ก็จับพลัดจับผลูมาเรื่อยๆ

เราชอบละครเวทีที่เราจะดูอะไรก็ได้ ทุกอย่างแบอยู่อย่างนี้ จะดูอะไรก็ดู และเราชอบดูตรงที่นักแสดงหลักไม่ได้กำลังเล่น ชอบไปดูตัวรองที่กำลังจะเข้าฉากมา ถ้าเป็นหนังมันจะถูกเลือกให้เราเห็น และในแง่การเล่าเรื่อง ละครเวทีก็ทำได้หลากหลายมากกว่าในแต่ละรอบแต่ละวัน
 


สมุดบันทึกของเบสที่ใช้จดไอเดียและวาง “หมุด” ในละครแต่ละเรื่อง

การเป็นผู้กำกับละครเวทีเรื่องเล็กๆ สนุกยังไง

เบสเป็นผู้ชมคนแรก การกำกับของเราส่วนใหญ่ใช้วิธีกำหนดเงื่อนไขกับนักแสดงว่าอันนี้เอา อันนี้ไม่ทำ เพราะว่ามันคุกคามคนดูเกินไป ทำให้คนไม่สบายตัว หรืออันนี้ทำให้คนสบายตัวเกินไป นักแสดงก็จะรับรู้ร่วมกันว่าอันไหนทำได้หรือไม่ทำเพราะอะไร เราจะมีเป้าหมายในการแสดงร่วมกันอยู่ ก็สนุกในการกำหนดเงื่อนไขตรงนี้ มองหาความเป็นไปได้ในระหว่างทาง

เบสเรียกละครที่ทำว่าละครแรลลี่ เหมือนเก็บอาร์ซีไปเรื่อยๆ จากจุดนี้ไปต่อเพื่อเก็บธงถัดไป นักแสดงก็แสดงไปเรื่อยๆ ดูชิลล์ แต่จริงๆ มันมีหมุดว่าเรื่องต้องไปถึงตรงนี้นะ ต้องมีคำนี้นะ

งาน “เสียงหลง” ที่ไปจัดแสดงในนิทรรศการ Intimate Politik มีที่มาที่ไปยังไง

เจน คิวเรเตอร์ของ Speedy Grandma ชวนให้ไปทำ เขาเอาคนที่อยู่ใน Black Box ไปทำงานใน White Cube ซึ่งก็คือแกลเลอรี่ มันไม่เหมือนกันจริงๆ ตั้งแต่เงื่อนไขของการเข้าไปชม ละครคือเข้ามาในช่วงเวลาที่กำหนด อยู่ร่วมกันตั้งแต่ต้นจนจบแล้วออกไป แต่งานในแกลเลอรี่คือมาเมื่อไหร่ก็ได้ ต้องตั้งทิ้งไว้ให้พร้อม เราก็มีบกพร่องเหมือนกัน เจอปัญหาทางเทคนิค คนไปแล้วฟังไม่ได้

โจทย์ของมันมาจากบทความ “ปลาหมึกในห้วงรัก” (โดย ชัส มาติเนซ) แต่ละหนวดของปลาหมึกมีสมองของตัวเอง แล้วมนุษย์เรารับรู้งานศิลปะผ่านอะไรบ้าง เราคิดว่าแกลเลอรี่เป็นที่ของทัศนศิลป์ ใช้ตาเป็นหลัก เลยอยากเอาสัมผัสอื่นมาใช้ ถ้าคนตาบอดเดินเข้าไปในแกลเลอรี่เขาจะรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นยังไงบ้าง ก็เลยไปอัดเสียงนักแสดงคนนู้นคนนี้ให้แสดงความคิดเห็นต่อคีย์เวิร์ดที่เราให้เขาหยิบขึ้นมา…พ่อ คนดี คนชั่ว รัก โลภ เงี่ยน เหงา ชวนเขาพูดถึงความรู้สึกความทรงจำ แล้วก็ตัดเสียงออกมาเหลือแค่ชิ้นละสองนาทีกว่า


งาน “เสียงหลง” ที่ Speedy Grandma
(ภาพ: Speedy Grandma)

 

เรียนรู้อะไรบ้างจากการกระโดดไปทำงานศิลปะที่ไม่คุ้นเคย

ตอนกำลังทำก็ตั้งคำถามว่าแค่ไหนคือพอ มันจะถูกจัดวางยังไง เราคิดไม่ออก สุดท้ายก็ให้เสียงมันมีที่ทางของมัน เสียงที่คุยกันเรื่องประวัติศาสตร์ก็เอาไปใส่ในถังแดงให้คนเงี่ยหูฟัง ก็ดูโอเค อีกอันเป็นเสียงของนานาพูดความรู้สึกตัวเองที่อัดอั้น อยากจะบีบลูกโป่งให้แตก เราก็เอาลูกโป่งไว้แขวนไว้แล้วให้คนปีนบันไดไปฟัง ล้อกับคำว่าศิลปะต้องปีนกระไดดู ตอนแรกที่กะว่าไม่ให้มีอะไรเลย เป็นเสียงลอยไปลอยมา ก็เรียนรู้ตรงนี้ว่างานมันคงต้องมีที่ทางของมันบ้าง

มันมีทั้งง่ายกว่าที่คิดและยากกว่าที่คิดว่าต้องทำอะไรบ้าง อย่างงานภาพถ่าย ตอนแรกพยายามไปรื้อภาพที่ถ่ายด้วยกล้องดีๆ แต่นานาบอกว่าอยากได้ภาพในชีวิตประจำวัน สุดท้ายเลยเป็นภาพอินสตาแกรมที่ถ่ายด้วยกล้องมือถืออัดไปแปะ 400-500 รูป เน้นปริมาณฮะ แล้วก็ใส่กิมมิคว่าใครอยากได้รูปไหนก็ดึงไปเลย เอากระปุกไปตั้งให้คนหยอดตังค์ มันจะได้มีแอคชั่น ไม่ใช่แปะไว้อย่างนั้น บางทีก็ไม่รู้ว่านี่คือโอเคหรือยังในพื้นที่ที่เรายังไม่รู้จัก ก็ยังสงสัยอยู่
 


ภาพถ่ายของวิชยที่ประกอบการแสดงของนานา เดกิ้น
(ภาพ: JAM)

คนดูละครเวทีมักจะเป็นกลุ่มเดิมๆ คิดว่าตรงนี้เป็นปัญหาไหม และจะทำยังไงให้ละครเวทีไปถึงผู้คนมากกว่านี้

เบสคงตอบได้ในมุมตัวเอง คือเราจะติดอยู่ในขอบเขตของภาษา งานเบสใช้ภาษาทุกอันและไม่สามารถใส่ซับไตเติ้ลได้ คือพูดกันเดี่๋ยวนั้น ไม่รู้ประโยคถัดไปจะพูดอะไร เราอยากทำงานเคลื่อนไหวที่มันข้ามพ้นขอบเขตของภาษาบ้าง ก็อาจจะได้คนดูกลุ่มใหม่หรือเปล่า พิจารณาที่ตัวเองเป็นหลักก่อน แต่มันจะไปถึงคนกลุ่มมากได้ยังไง (คิดนาน) ต้องขยันโฆษณากว่านี้มั้ง

ยังไม่เคยมีละครของเบสที่คนดูเต็ม ส่วนใหญ่จะอยู่กลางๆ ก็เป็นปัญหาที่อยากแก้ไขนะเพราะเวลาจ่ายตังค์ทีมงาน นักแสดง พอไม่ได้ตามเป้าเขาก็ต้องได้เงินน้อยลงมา ยังไม่มีงานไหนที่นักแสดงได้อย่างที่ควรจะได้ และเราไม่สามารถจ่ายตังค์ตัวเองได้ด้วยเพราะมันหมดไปกับการทำโปรดักชั่นแล้ว ถือเป็นอาชีพที่ไม่ได้เลี้ยงชีพ

แล้วในฐานะคนที่ทำงานละครเวทีและศิลปะจะทำยังไงต่อไป

เราทำงานให้ดีก่อนนะสำหรับเบส ทำงานให้เราโอเคก่อน ถ้าเราไม่โอเคเราก็ไม่กล้าขาย จะไปชวนคนมาดูเยอะๆ โดยที่เรายังไม่โอเคกับงานเราก็ไม่กล้า ต้องพยายามทำงานให้ดีก่อน
 


“เพลงนี้พ่อเคยร้อง (3 Days In May)” แสดงวันที่ 16-27 กรกฎาคม (ยกเว้นวันอังคารและพุธ) ที่โรงละครพระจันทร์เสี้ยว สถาบันปรีดี พยมยงค์
บัตรราคา 400 บาท ติดตามโปรโมชั่นและจองบัตรได้ที่ For WhaT theatre หรือหน้าเพจอีเว้นท์

 


NEW RELEASE: พูดคุยกับศิลปินที่มีผลงานใหม่น่าจับตามอง สำรวจความคิดเบื้องหลังและทัศนคติดีๆ ที่จะเปลี่ยนมุมมองบางอย่างกับคุณ
มีใครน่าสนใจหรืออยากให้สัมภาษณ์ใคร ส่งมาบอกเราได้ที่ krungthep@coconuts.co


Tell us what you think!

You may be interested

คุณครูอวดของขวัญชิ้นประทับใจจากลูกศิษย์ตัวน้อยผู้ไม่มีอะไรจะให้..แต่ก็หามาให้จนได้
AROUND THE WORLD
shares5848 views
AROUND THE WORLD
shares5848 views

คุณครูอวดของขวัญชิ้นประทับใจจากลูกศิษย์ตัวน้อยผู้ไม่มีอะไรจะให้..แต่ก็หามาให้จนได้

Sapparot - Dec 26, 2018

คุณครูชั้นประถมในสหรัฐฯ อวดของขวัญชิ้นโดนใจที่ได้รับในช่วงเทศกาลแห่งความสุขจากลูกศิษย์ตัวน้อยที่แม้ตัวเองจะไม่มีอะไรก็ยังตั้งใจสรรหาของขวัญมาให้คุณครูจนได้ ถึงจะเป็นแค่มาร์ชเมลโลว์จากซีเรียลอาหารเช้าธรรมดา ๆ แต่เพราะว่ามีความตั้งใจของหนูอยู่เต็มเปี่ยมในนั้น มันเลยพิเศษที่สุดเลย

10 รูปยอดไลค์สูงสุดใน Instagram 2018
LIFESTYLE
shares5100 views
LIFESTYLE
shares5100 views

10 รูปยอดไลค์สูงสุดใน Instagram 2018

Sapparot - Dec 25, 2018

10 รูปยอดไลค์สูงสุดจาก Instagram ปี 2018 รวมแล้วมาจากคนดังระดับโลกเพียง 5 คนเท่านั้น โดยมีหนูน้อย Stromi ลูกสาว Kylie Jenner เรียกยอดไลค์กดหัวใจให้คุณแม่ได้อย่างดีเชียว

อาทิตย์และดวงจันทร์ Rose Céleste เครื่องประดับน่ารักจาก Dior
Accesseries
shares4461 views
Accesseries
shares4461 views

อาทิตย์และดวงจันทร์ Rose Céleste เครื่องประดับน่ารักจาก Dior

Sapparot - Dec 24, 2018

Dior เผยโฉมแอคเซสซอรี่ชิ้นใหม่ Rose Céleste จี้กลมรูปพระอาทิตย์-พระจันทร์ งานแฮนด์เมดสุดปราณีตจากทองคำและเปลือกหอยมุก