เสียงสะท้อนจากเจ้าพระยา: โครงการหมื่นล้านกับวิถีริมน้ำที่กำลังเปลี่ยนไป

July 15, 2018
1817 Views

ขณะที่เรานั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศใจกลางเมืองหลวงที่วุ่นวายแห่งนี้ ที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่สงบและเรียบง่ายของกรุงเทพมหานครกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

“โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา” ของขวัญชิ้นใหม่และใหญ่ที่กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานครตั้งใจมอบให้ชาวเมืองกำลังจะเริ่มก่อสร้างในไม่ช้า ให้คนทำงานอย่างเรามีพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ เดินเล่น ปั่นจักรยานเป็นระยะทางกว่า 50 กิโลเมตร ชมวิวพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าริมฝั่งน้ำอันสวยงามที่หลายคนโหยหา ฟังดูเข้าท่าทีเดียว

ทว่าความสุขของชาวเมืองอาจต้องแลกกับการเปลี่ยนไปของวิถีชีวิตของชุมชนริมน้ำดั้งเดิมที่มีอยู่เกือบ 300 หลังคาเรือน ฉากการคัดคานกันระหว่างการพัฒนากับการอนุรักษ์กำลังฉายภาพซ้ำอีกครั้ง ในเมื่อมาตรวัดความสุขของแต่ละคนไม่เท่ากัน บทสรุปของเรื่องนี้จะเหมือนเคย คือใครที่มีกำลังและอำนาจมากกว่าก็ชนะไปหรือเปล่า?

 

จากชองกเยชอน…สู่เจ้าพระยา

ในแผนการที่ผ่านความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรีไปแล้วนั้น ระบุว่าการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 2 ฝั่งจะมีระยะทางรวมกัน 50 กิโลเมตร (ฝั่งละ 25 กิโลเมตร) เริ่มจากสะพานพระราม 3 สิ้นสุดที่สะพานพระนั่งเกล้า ด้วยงบก่อสร้าง 30,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มเฟสแรกก่อนภายในสิ้นปีนี้ในระยะทางรวม 14 กิโลเมตร (ฝั่งละ 7 กิโลเมตร) ตั้งแต่สะพานพระปิ่นเกล้าไปจนถึงสะพานพระราม 7 เพื่อให้เปิดใช้ได้ทันปีพ.ศ. 2560-2561 ในมูลค่าการก่อสร้าง 14,006 ล้านบาท

ถนนขนาบแม่น้ำที่จะสร้างขึ้นประกอบด้วยทางจักรยานและทางคนเดิน ยื่นออกจากริมตลิ่งแม่น้ำทั้งสองฝั่ง ข้างละ 20 เมตร ปักตอม่อตรงดิ่งลงไปในน้ำ บริเวณที่เป็นจุดเว้า จุดโค้ง จะพัฒนาเป็นศาลาริมน้ำและลานกิจกรรม ซึ่งเป็นแผนพัฒนาที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก “ชองกเยชอนโมเดล” ที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางไปดูงานริมแม่น้ำฮัน ใจกลางกรุงโซลของเกาหลีใต้

หากจะถามว่าชองกเยชอนเป็นแบบอย่างที่ดีให้เจ้าพระยาได้หรือไม่? คงต้องพิจารณาส่วนประกอบหลายอย่างควบคู่กันไป

คลองชองกเยชอนมีประวัติย้อนไปราว 600 ปีก่อนในสมัยกษัตริย์แทจง ผู้มีดำริให้สร้างคลองแห่งนี้ขึ้นเพื่อระบายน้ำในกรุงโซล แต่เมื่อเกาหลีใต้เข้าสู่ยุคแห่งการพัฒนาเต็มขั้นในปี พ.ศ. 2491 ถนนและทางด่วนยกระดับจำนวนมากที่รัฐบาลสร้างขึ้นได้ปิดทับคลองแห่งนี้ จนมีสภาพเป็นเพียงแหล่งเสื่อมโทรม จนกระทั่งพ.ศ. 2546 อี มย็อง บัก นายกเทศมนตรีกรุงโซลในขณะนั้น ได้เริ่มโครงการบูรณะชองกเยชอนตลอดทางยาว 5.84 กิโลเมตร โดยรื้อถนนและทางด่วนออก แทนที่ด้วยพื้นที่สาธารณะ ก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการใน 2 ปีต่อมาและสร้างความตื่นตะลึงให้คนทั่วโลก จนทุกวันนี้ คลองชองกเยชอนกลายเป็นสถานที่พักผ่อนและสถานที่ท่องเที่ยวที่มีคนมาเดินเล่น ปั่นจักรยาน ออกกำลังกายกันอย่างคึกคัก


คลองชองกเยชอน
ภาพ: MPD01605, Emily Orpin

มองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนพระอาทิตย์มีความคล้ายคลึงกับคลองชองกเยชอนไม่น้อย จุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับสวนสาธารณะสันติชัยปราการเลาะเลียบไปจนถึงใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ถึงจะเป็นระยะทางสั้นๆ แต่ก็เป็นทางเลียบแม่น้ำที่ประชาชนและนักท่องเที่ยวใช้ประโยชน์ได้จริง

เมื่อแดดร่มลมตก สวนสาธารณะแห่งนี้จะคราคร่ำไปด้วยกลุ่มคนหลากวัย ตั้งแต่คุณลุงคุณป้ามาเต้นแอโรบิก กลุ่มวัยรุ่นบีบอยหอบเอาสเกตบอร์ดมาฝึกซ้อม หนุ่มสาววัยทำงานนั่งรับลมริมแม่น้ำเจ้าพระยา หรือแม้แต่เวลามีอีเว้นท์สนุกๆ หรือวันสำคัญของกรุงเทพฯ ที่นี่ก็เป็นตัวเลือกสถานที่จัดงานอันดับต้นๆ

รัฐบาลคงมองเห็นความเป็นไปได้เช่นนั้น จึงหมายมั่นให้โครงการทางเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยานี้เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ไว้ให้เราใช้สอย ที่สำคัญคือช่วยแก้ปัญหาสิ่งก่อสร้างรุกล้ำแม่น้ำและแก้ปัญหาน้ำท่วม
 

ปัดฝุ่นโครงการเก่ามาเล่าใหม่

รัฐบาลคสช. หยิบโครงการนี้ให้เป็นวาระเร่งด่วนนับตั้งแต่ครั้งการร่วมหารือแนวนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทย เมื่ือเดือนพฤษภาคม 2557 ก่อนจะเปิดเผยผ่านสื่อเมื่อเดือนธันวาคม 2557 ว่ากระทรวงมหาดไทยกำลังมอบหมายให้ทาง กทม. เร่งศึกษาความเป็นไปได้ของการก่อสร้าง และวางแผนให้ตอกเสาเข็มได้ภายในเดือนตุลาคมปีนี้

เหตุที่รัฐบาลเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง เพราะมันคือโครงการเก่าตั้งแต่ปี 2536 สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย โดยครั้งนั้นวางแผนให้เป็นโครงการช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดด้วยการสร้างถนน 6 เลน เริ่มตั้งแต่สะพานพระนั่งเกล้ายาวไปจนถึงปากเกร็ด จ.นนทบุรี

ผลการทำประชามติครั้งนั้นระบุว่าประชาชนเห็นด้วยถึงร้อยละ 87 จากประชากรผู้ถูกสำรวจ 10,175 คน แต่นั่นเป็นเพราะการนำเสนอข้อมูลด้านดีเพียงด้านเดียว รวมไปถึงการให้ข้อมูลว่าจะไม่มีการเวนคืนที่ดินริมแม่น้ำเพราะตอม่อเสาและคานสร้างลงในน้ำ ประชาชนจึงคิดว่าไม่เกิดผลกระทบกับตน แต่ผลการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กลับขัดแย้งกับข้อมูลที่รัฐบาลระบุ

ผล EIA บอกว่าพื้นผิวถนนที่อยู่เหนือน้ำประมาณ 2 เมตร จะลดเหลือ 1 เมตรในช่วงผ่านสะพานหรือสถานที่สำคัญ และจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อมีทางเชื่อมลอดทางด่วนหรือทำเป็นท่าน้ำ ซึ่งความสูงระดับนี้เพียงพอต่อการจูงใจให้คนบุกรุกพื้นที่สาธารณะบริเวณใต้ทางด่วนใช้เป็นที่อยู่อาศัย

อีกทั้งโครงการนี้ไม่มีที่ดินสำหรับพัฒนาโดยตรง สร้างความลำบากในการชักนำเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนก่อสร้าง รูปแบบที่ออกมาจึงคล้ายกับทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ที่ผู้ขับขี่ต้องเสียเงินเอง ไม่ว่าการลงทุนก่อสร้างจะมาจากภาคเอกชนหรือรัฐบาล โครงการนี้จึงถูกล้มเลิกไปในที่สุด ก่อนที่จะถูกปัดฝุ่นทำใหม่โดยรัฐบาลคสช. ใน 22 ปีต่อมา


 

ล้ม EIA ขาดการศึกษาผลกระทบ

ก่อนหน้านี้ในเดือนธันวาคม 2557 มีการเผยว่าโครงการนี้จะงดการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อให้สามารถดำเนินการก่อสร้างได้เร็วขึ้น โดยระบุว่าไม่ใช่ถนนทางหลวงตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ที่กำหนดว่า กรณีโครงการที่เข้าข่ายทำรายงาน EIA ต้องเป็นถนนทางหลวงที่ตัดผ่านพื้นที่อ่อนไหว ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตอุทยานแห่งชาติ เขตลุ่มน้ำชั้น 2 (พื้นที่ต้นน้ำลำธาร) ตามมติ ครม. พื้นที่ป่าชายเลนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่ฝั่งทะเลระยะ 50 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุด

เหตุนี้เองจึงมีหลายฝ่ายแสดงความกังวลและวิพากษ์วิจารณ์ขั้นตอนดำเนินงานที่ไม่โปร่งใส 5 องค์กรวิชาชีพสถาปัตย์เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ขยับตัวเรียกร้องให้รัฐบาลและคณะทำงานทบทวนโครงการดังกล่าวอย่างรอบคอบ เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ตลอด 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีทั้งวัด โบราณสถาน สถานที่ราชการและชุมชนที่มีวิถีชีวิตน่าอนุรักษ์ จึงไม่ควรทำอย่างรีบเร่งอย่างที่เป็นอยู่ รวมถึงขอให้ทบทวนการใช้งบประมาณ เนื่องจากสามารถสร้างเส้นทางจักรยานในพื้นที่อื่นของกรุงเทพฯ ได้ด้วยเงินลงทุนที่น้อยกว่ามาก โดยอาจจะสร้างโครงการนำร่องเฉพาะพื้นที่เพื่อศึกษาหาความเป็นไปได้ที่เหมาะสมก่อน

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้ออกแถลงการณ์คัดค้านเช่นกัน โดยเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีชะลอโครงการฯ จนกว่าจะศึกษาผลกระทบและรับฟังเสียงจากภาคประชาชนอย่างโปร่งใส และให้ชุมชนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมจัดการโครงการด้วย

ส่วนภาคีพัฒนาริมพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา (พพพ.) นำโดยผังเมืองจุฬาฯ ผังเมืองธรรมศาสตร์ ผังเมืองเกษตรศาสตร์ ผังเมืองศิลปากร แถลงการณ์ 4 ข้อคัดค้านระบุถึงผลกระทบด้านลบของโครงการต่อสิ่งแวดล้อม นิเวศวิทยา และภูมิทัศน์วัฒนธรรมของพื้นที่ริมน้ำ เสริมด้วยข้อมูลว่าการออกแบบยังขาดความเชื่อมโยงกับโครงข่ายการสัญจรของเมืองและภูมิสัณฐานของตลิ่ง จึงขอให้มีการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชน สร้างความเข้าใจต่อสาธารณะ เพื่อให้โครงการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ นำไปสู่การสร้างความเป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมกัน


โครงการเฟสถัดไปจะมีการสร้างทางเดินยาวไปถึงบริเวณบางกระเจ้า พื้นที่สีเขียวจุดสำคัญของคนกรุงเทพฯ
ภาพ: Friends of River

อย่างไรก็ตามเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกแถลงข่าวยืนยันว่าจะต้องทำ EIA ก่อนตามกฎหมายอยู่แล้ว และให้สัญญาว่าจะไม่มีการเวนคืนที่ดิน ไม่กระทบสิทธิ์ของผู้ถือครองอยู่เดิมเพราะเป็นการสร้างสะพานยื่นออกไป แต่สำหรับผู้ปลูกบ้านรุกล้ำแม่น้ำจำเป็นต้องจัดระเบียบ ดังนั้นจึงไม่อยากให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ไปก่อนทั้งที่ยังไม่เข้าใจภาพรวมชัดเจน
 

วิถีชีวิตและความผูกพันกับสายน้ำ

มากไปกว่าความกังวลว่าโครงการนี้จะทำลายวิถีชีวิตริมน้ำ คือระบบนิเวศและทรัพยากรทางน้ำที่อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน

“น้ำใต้นั้นจะโดนแดดไหม สัตว์น้ำริมตลิ่งที่กำลังกลับมาจะวางไข่อย่างไร พืชริมน้ำสังเคราะห์แสงได้ไหม ระบบนิเวศที่เดิมมันแย่อยู่แล้วก็คงจะพังทลายอย่างสมบูรณ์แบบ คนปลายน้ำคงได้รับผลกระทบพอสมควร เราพร้อมจะรับข้อเสียตรงนี้เพื่อแลกกับทางจักรยานยาวๆ สวยๆ นี้หรือไม่” คือสิ่งที่พ.ต.ท. ปริญญา เจริญบัณฑิต นักศึกษาปริญญาเอก สาขาการวางผังภาคและเมือง มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ประเทศเกาหลี แสดงความกังวลผ่านโซเชียลมีเดีย

พ.ต.ท. ปริญญาระบุว่า ความน่าจะเป็นของการนำเอาโมเดลคลองชองกเยชอนมาปรับใช้กับแม่น้ำเจ้าพระยาแทบจะเป็นศูนย์ ทั้งความแตกต่างในสภาพแวดล้อมและบริบท ตั้งแต่ขนาดของแม่น้ำ โดยแม่น้ำฮันช่วงที่ไหลผ่านกรุงโซลมีความกว้างประมาณ 800 เมตร และมีพื้นที่ด้านข้างเพื่อรับน้ำหลากรวมความกว้างทั้งหมดเกือบๆ หนึ่งกิโลเมตร ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนที่ไหลผ่านกรุงเทพฯ บริเวณจุดเริ่มโครงการที่เชิงสะพานปิ่นเกล้ากว้างประมาณ 220 เมตร ส่วนจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณเชิงสะพานพระรามเจ็ดกว้างประมาณ 300 เมตรเท่านั้น


คลองชองกเยชอนกับสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของผู้คนริมน้ำที่แตกต่างจากเจ้าพระยา
ภาพ:  Therealrealjd

ต่อมาคือขนาดพื้นที่รับน้ำหลากและความสูงของตลิ่ง แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำที่อยู่บนที่ราบแบนๆ บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ระดับน้ำไม่ต่างกันมากและตลิ่งไม่สูงชัน ไม่มีพื้นที่รับน้ำหลาก ส่วนแม่น้ำฮันต่างไปคือ มีพื้นที่กว้างใหญ่รองรับน้ำหลากทั้งสองข้าง บางจุดกว้างถึง 200 เมตรกว่าจะถึงตลิ่งที่สูงชัน และยังสร้างถนนไฮเวย์ขนาดสิบเลน ตั้งเสาสูงระดับตลิ่งขนานไปกับแม่น้ำ โดยใช้พื้นที่รับน้ำหลากใต้ทางด่วนนี่แหละเป็นทางจักรยานและสวนสาธารณะ

สุดท้ายคือความผูกพันกับสายน้ำ บ้านเมืองคนไทยสมัยก่อนจะตั้งหันหน้าเข้าหาน้ำและขยายไปตามแม่น้ำซึ่งเป็นทางสัญจรหลักของผู้คนและเรือขนส่งสินค้าจำนวนมาก เป็นแหล่งอาหารที่ค้ำจุนชีวิตปลายน้ำอีกมากมาย แต่คนเกาหลีไม่ใช่ชาวน้ำมาแต่แรกเริ่ม แม้เมืองใหญ่ทั้งหลายจะตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำ แต่บ้านเรือนและสถานที่สำคัญตั้งอยู่บนเขาหรือที่ราบสูง ฉะนั้น การสร้างทางจักรยานหรือสวนสาธารณะริมน้ำจึงไม่เดือดร้อนใคร

ศ. ดร. ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยาลงมือเขียนบทความแสดงความคิดเห็นว่าหากโครงการนี้เกิดขึ้นจริง “ก็น่าจะเป็นอวสานของภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองในบริเวณลุ่มน้ำลำคลองตั้งแต่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตจังหวัดสมุทรปราการ ผ่านขึ้นมากรุงเทพฯ ธนบุรีและเรื่อยขึ้นไปจนถึงนนทบุรีอย่างไม่ต้องสงสัย”
 

เสียงสะท้อนจากริมน้ำเจ้าพระยา

จากข้อมูลการก่อสร้างเฟสแรกระบุว่า 268 ครัวเรือนต้องรื้อถอนสิ่งก่อสร้างเนื่องจากรุกล้ำแม่น้ำ พวกเขาถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรกๆ

“เราก็รู้ว่าเราผิดนะ เราปลูกบ้านรุกล้ำแม่น้ำ แต่ก็ใจหาย เราอยู่ตรงนี้มานาน 20 กว่าปีตั้งแต่แต่งงาน ตอนนี้มีลูกสองคน มันก็ไม่รู้จะไปเริ่มใหม่ที่ไหนยังไง แต่ถ้าเค้าต้องการพื้นที่คืน เราก็ต้องยอมรับ” ธารา ผโลดม ผู้ดูแลศาลเจ้าชุมชนราชผาทับทิมร่วมใจบอกกับเรา โดยยอมรับว่าถ้าโครงการมีประโยชน์ ตัวเขาเองก็พร้อมจะสนับสนุน

ก่อนหน้านี้ธาราบอกว่าทางกทม. ได้เข้ามาพูดคุยถึงแนวทางการเยียวยา 4 ข้อ ได้แก่ การขอรับค่าเยียวยาตามที่รัฐกำหนด การหาที่อยู่อาศัยให้ใหม่ในราคาที่ถูกหรือครึ่งราคา การให้ความช่วยเหลือเรื่องการศึกษาของบุตรหลาน กรณีย้ายสถานศึกษาแห่งใหม่ที่ใกล้กับแหล่งที่พัก และเรื่องคุณภาพชีวิต เช่น จัดหาที่ทำงานให้ชาวชุมชน นั่นจึงทำให้ชาวบ้านยอมอ่อนข้อลง

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีชาวบ้านอีกกว่า 24 ชุมชนไล่ตั้งแต่สะพานปิ่นเกล้าขึ้นไปถึงสะพานพระราม 7 ที่ต้องได้รับผลกระทบ

“ทางเดินเลียบน้ำเจ้าพระยา 14 กม.จะส่งผลต่อ 24 ชุมชน มิใช่เพียง 1 ชุมชนที่รุกล้ำริมน้ำตามที่กทม. เข้าใจและพยายามออกข่าวซ้ำๆ จะต้องร่วมหารือและรับฟังความเห็นของทุกชุมชน รวมทั้งเจ้าของที่ดินที่เป็นภาครัฐและเอกชนทั้งหมดด้วย ไม่ใช่นำเฉพาะฉันทานุมัติจากชุมชนเดียวที่รุกล้ำและพร้อมจะย้ายออกเนื่องจากโดนกฎหมายบีบ มาอ้างความชอบธรรมของโครงการ” ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะตัวแทนภาคีพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยาโพสต์ผ่านโซเชียลมีเดียแย้งถึงความไม่เป็นธรรมในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ



กลุ่ม Friends of River สะท้อนภาพวิถีชีวิตริมน้ำที่กำลังจะเปลี่ยนไป
ภาพ: Friends of River

เช่นเดียวกับที่ สรวุฒิ กาญจนโกมล เจ้าของบ้านริมน้ำเจ้าพระยารู้สึก ถึงแม้เขาจะเป็นเพียงเจ้าของบ้านที่อยู่หลังแนวเขื่อนกันน้ำ แต่ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ด้วยทางเลียบเจ้าพระยาจะอยู่สูงกว่าระดับเขื่อนกั้นน้ำปัจจุบันอีกหนึ่งเมตร แปลว่าเขาอาจไม่ได้เห็นทัศนียภาพริมน้ำอีกแล้ว

“ความสงบมันน่าจะหายไปเพราะคนเดินผ่านไปมา แล้วความปลอดภัยจะมีมั้ย ดึกๆ คนกระโดดข้ามมาเข้าบ้านได้หรือเปล่า รัฐบาลต้องเอาไปคิดเป็นการบ้านด้วย อย่าคิดแต่จะทำโดยไม่เห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน จริงๆ เราลำบากมาตั้งแต่ตอนทำเขื่อนแล้วนะ ทุกวันนี้น้ำหลังเขื่อนก็สกปรกอยู่แล้ว ถ้าทำทางเลียบแม่น้ำขึ้นมาอีกก็ไม่รู้จะเป็นยังไง”

ชาวบ้านยอมรับว่าไม่กล้าทวนกระแสน้ำ จึงต้องยอมจำนนกับข้อแลกเปลี่ยนที่รัฐบาลนำเสนอมา ถึงแม้จะยังคิดภาพไม่ออกด้วยซ้ำว่าทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาจะเป็นอย่างไร เนื่องจากรูปแบบและรายละเอียดโครงการที่ยังไม่เผยแพร่ออกมา แต่พวกเขาก็เข้าใจว่าการพัฒนาจะต้องมีการสูญเสียไม่มากก็น้อย
 

ถึงเวลาพัฒนาแบบมีส่วนร่วม

มันคงจะไม่ดีแน่ หากเราทุกคนยังขาดความเข้าใจ ขาดข้อมูล แล้วร่วมยินดีปล่อยให้โครงการดำเนินต่อไป โดยไม่รู้เลยว่าหากการก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้วเราจะได้ประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่ เหตุนี้กลุ่ม Friends of River ทีมงานอาสาสมัครจึงลงพื้นที่สำรวจอย่างจริงจัง เพื่อหาข้อมูลมาชั่งน้ำหนักว่าโครงกาารนี้จะทำลายมากกว่าพัฒนาหรือไม่

ยศพล บุญสม ตัวแทนจาก Friends of River บอกกับเราว่าพวกเขาคือตัวแทนภาคประชาชนที่เรียกร้องให้ทุกคนมีส่วนร่วมนำเสนอรูปแบบของโครงการที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

“แม่น้ำถือเป็นพื้นที่สาธารณะของทุกคน เงินที่ใช้ก็ภาษีของเรา ทำไมเราถึงแสดงความคิดเห็นไม่ได้ ในเมื่อมันไม่ใช่แค่ทางเดินริมน้ำ แต่มันเป็นการแยกวิถีคนกับน้ำออกจากกัน เราต้องมาคุยกันว่าตรงไหนเหมาะสมจะทำ คนที่อยู่ละแวกนั้นได้ประโยชน์ควบคู่ไปกับเมืองได้ประโยชน์ด้วย” ยศพลกล่าว

หากยกตัวอย่างการพัฒนาริมน้ำที่ใกล้เคียงกัน “โครงการยานาวาริเวอร์ฟรอนท์” ถือเป็นหนึ่งในโมเดลทางเดินริมน้ำที่น่าสนใจ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่ริมน้ำสาธารณะเพื่อทุกคน จึงเป็นการพัฒนาที่ประชาชนยอมรับได้ไม่ยาก น่าจะดีไม่น้อยหากเราเอามาปรับใช้กับโครงการนี้ได้

จนถึงขณะนี้ กลุ่ม Friends of River ยังคงดำเนินการลงสำรวจพื้นที่และพูดคุยกับประชาชน พร้อมขอความคิดเห็นจากนักวิชาการทางระบบนิเวศ ชลศาสตร์ และสถาปนิก รวมไปถึงจัดกิจกรรม Sketches for the River Challenge ให้ประชาชนส่งแบบร่างแนวคิดการพัฒนาพื้นที่สาธารณะริมแม่นำ้เจ้าพระยาในฝัน ก่อนจะเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้ร่วมเสนอรูปแบบที่เข้ากับชุมชนของตนเองและเกิดประโยชน์สาธารณะมากที่สุด คาดว่าจะใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนในการรวบรวมข้อมูลก่อนเปิดเวทีเสวนา



ภาพบางส่วนในกิจกรรม Sketches for the River Challenge ที่ทางกลุ่ม Friends of River จัดขึ้น
ภาพ: Yossapon Boonsom, Pocco Kobkongsanti

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากทางเลียบเจ้าพระยาเสร็จสิ้นทั้ง 50 กิโลเมตร จะช่วยเชื่อมต่อสถานที่สำคัญโดยเฉพาะในย่านเศรษฐกิจและชุมชนเมืองขนาดใหญ่ ที่มีคอนโดมิเนียม ช้อปปิ้งมอลล์ คอมมูนิตี้มอลล์เข้าด้วยกัน แต่สำหรับชุมชนรอบนอก พวกเขายังคงมองไม่เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้ และรัฐบาลก็ไม่เคยเสนอว่าชุมชนจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและวัฒนธรรม แล้วมันจะได้ไม่คุ้มเสียหรือไม่ เราต้องช่วยกันจับตามองอย่างใกล้ชิด

เพราะตอนนี้ หมดเวลาที่จะมานั่งเถียงกันแล้วว่าทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาควรสร้างหรือไม่ หากแต่การผลักดันให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเจ้าของพื้นที่ เพื่อให้คำว่า “พัฒนา” เข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริง นั่นคือสิ่งที่เราอยากเห็นมากกว่าทางจักรยานสวยงามที่สุดท้ายอาจไม่มีใครอยากใช้งาน
 

Tell us what you think!

You may be interested

คุณครูอวดของขวัญชิ้นประทับใจจากลูกศิษย์ตัวน้อยผู้ไม่มีอะไรจะให้..แต่ก็หามาให้จนได้
AROUND THE WORLD
shares5863 views
AROUND THE WORLD
shares5863 views

คุณครูอวดของขวัญชิ้นประทับใจจากลูกศิษย์ตัวน้อยผู้ไม่มีอะไรจะให้..แต่ก็หามาให้จนได้

Sapparot - Dec 26, 2018

คุณครูชั้นประถมในสหรัฐฯ อวดของขวัญชิ้นโดนใจที่ได้รับในช่วงเทศกาลแห่งความสุขจากลูกศิษย์ตัวน้อยที่แม้ตัวเองจะไม่มีอะไรก็ยังตั้งใจสรรหาของขวัญมาให้คุณครูจนได้ ถึงจะเป็นแค่มาร์ชเมลโลว์จากซีเรียลอาหารเช้าธรรมดา ๆ แต่เพราะว่ามีความตั้งใจของหนูอยู่เต็มเปี่ยมในนั้น มันเลยพิเศษที่สุดเลย

10 รูปยอดไลค์สูงสุดใน Instagram 2018
LIFESTYLE
shares5119 views
LIFESTYLE
shares5119 views

10 รูปยอดไลค์สูงสุดใน Instagram 2018

Sapparot - Dec 25, 2018

10 รูปยอดไลค์สูงสุดจาก Instagram ปี 2018 รวมแล้วมาจากคนดังระดับโลกเพียง 5 คนเท่านั้น โดยมีหนูน้อย Stromi ลูกสาว Kylie Jenner เรียกยอดไลค์กดหัวใจให้คุณแม่ได้อย่างดีเชียว

อาทิตย์และดวงจันทร์ Rose Céleste เครื่องประดับน่ารักจาก Dior
Accesseries
shares4482 views
Accesseries
shares4482 views

อาทิตย์และดวงจันทร์ Rose Céleste เครื่องประดับน่ารักจาก Dior

Sapparot - Dec 24, 2018

Dior เผยโฉมแอคเซสซอรี่ชิ้นใหม่ Rose Céleste จี้กลมรูปพระอาทิตย์-พระจันทร์ งานแฮนด์เมดสุดปราณีตจากทองคำและเปลือกหอยมุก