NEW RELEASE: ดำลึกไปในชั่วโมงสีน้ำเงินกับอนุชา บุญยวรรธนะ
เอ่ยชื่อของอนุชา บุญยวรรธนะ คงมีหลายคนไม่คุ้นหูนัก
แต่หากบอกเพิ่มเติมว่าเขาคือผู้กำกับหนังสั้นตอน “คืนสีน้ำเงิน” ในซีรี่ส์เพื่อนเฮี้ยน…โรงเรียนหลอนที่ถูกพูดถึงอย่างมากในโลกออนไลน์ และพา “The Blue Hour (อนธการ)” เวอร์ชั่นเต็มของหนังสั้นเรื่องนี้ไปฉายรอบพรีเมียร์ไกลถึงเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เท่านี้ก็น่าจะพอต่อคำถามว่าทำไมเราถึงอยากพูดคุยกับชายคนนี้
เพราะยังมีอีกหลายอย่างที่ควรรู้ ก่อนจะจมดิ่งไปกับเรื่องราวมืดมิดในค่ำคืนสีน้ำเงิน…อีกครั้ง
โปรเจกต์ภาพยนตร์เรื่อง The Blue Hour เกิดขึ้นได้ยังไง
พี่เรียนจบภาพยนตร์จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เลยมีเพื่อนอยู่ช่อง GTH On Air เยอะ เขาติดต่อมาว่าให้ทำหนังสั้นโปรเจกต์ เพื่อนเฮี้ยน…โรงเรียนหลอน พี่เองทำงานอยู่ที่ G Village Co-Creation Hub เป็นโปรดักชั่นเฮ้าส์ทำงานโฆษณาต่างๆ ก็มองว่าน่าจะมาโคกันได้ เราเลยเขียนบทออกมาให้โปรดิวเซอร์อ่านก่อน ด้วยประเด็นและวิชวลน่าสนใจ อย่างซีนที่เด็กผู้ชายสองคนเดินลงไปในสระว่ายน้ำสกปรกๆ มันแปลกนะ เลยคุยกันว่ามันน่าจะไปได้ในตลาดต่างประเทศ น่าจะหาทุนมาเพิ่มทำเป็นหนังยาว เพราะเรามีทุนส่วนหนึ่งสำหรับทำเป็นหนังสั้น มีนักแสดง ทีมงานพร้อมอยู่แล้ว ก็เลยพัฒนาบทต่อให้เป็นหนังงยาวในชื่อ The Blue Hour
หนังเรื่องนี้พูดถึงอะไร
GTH On Air ให้อิสระกับผู้กำกับพอสมควร และให้โจทย์มากว้างมาก ไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นเรื่องผีขนาดไหน แค่เป็นเรื่องสยองขวัญในโรงเรียน ชีวิตมัธยม และตัวละครเป็นวัยรุ่น อย่างเรื่องนี้เขามองว่าน่าจะให้รสชาติที่แปลกไปจากเรื่องอื่นๆ ในซีรี่ส์ ก็เลยให้พี่ทำเรื่องที่สนใจไปเลย
พอดีพี่มาสะดุดข่าวความรุนแรงในครอบครัว เด็กฆ่าพ่อแม่ตัวเอง ซึ่งเวลาที่นำเสนอเรื่องนี้ก็ดูเป็นเรื่องต้องห้าม เกี่ยวข้องกับบุญบาป มันไม่ค่อยถูกเอามาพูดคุยกันมากนักในสังคมว่าสาเหตุที่เด็กทำเรื่องรุนแรงแบบนี้เกิดจากอะไร เราก็อ่านเคสหลายๆ เคสแล้วจับรายละเอียดแต่ละเคสมาปนกัน เพื่อที่จะทำหนังออกมาตั้งคำถามกับสังคมว่าจุดเริ่มต้นของปัญหามาจากไหน ส่วนเรื่องเกย์ที่ใส่ลงไปก็เป็นสไตล์ที่เราถนัดอยู่แล้ว
ทำไมถึงสนใจประเด็นเรื่องเกย์เป็นพิเศษ
คือเราเป็นเกย์ด้วยก็ต้องเข้าใจตัวละครนี้เป็นอย่างดี เหมือนนักทำหนังทุกคนที่จะต้องเริ่มจากเรื่องที่ใกล้ตัวก่อน สไตล์หนังของพี่ ตัวละครเป็นเกย์แต่ประเด็นจะไม่เกี่ยวข้องกับเกย์มาก เป็นประเด็นที่สากลออกไป คนดูชายหญิงปกติดูแล้วเข้าใจ มีส่วนร่วมได้ พอมาย้อนดูงานเก่าๆ ก็เหมือนเราอยากจะบอกกับผู้สร้างหนังว่า หนังเกย์ยุคใหม่ๆ ไม่จำเป็นต้องวนเวียนอยู่กับเรื่องอกหักรักคุดหรือไลฟ์สไตล์ของเกย์เท่านั้น มันไปพูดในเรื่องที่เป็นมนุษย์ได้มากกว่านั้น ซึ่งเป็นแนวทางที่พี่ทำมาตลอด
อย่างเรื่องตามสายน้ำ (2004) ทีสิสจบของพี่ ก็เอาชีวิตรักของเกย์ผนวกกับปรัชญาพระพุทธศาสนา หรือเรื่อง The Blue Hour ก็พูดถึงชีวิตรักของเกย์ที่ไปถึงปัญหาสังคม ความรุนแรงในครอบครัว สะท้อนปัญหาบางอย่างออกมา
ใส่สไตล์การเล่าเรื่องของตัวเองในเรื่องนี้ที่ผนวกประเด็นทั้งเกย์ สังคม และเรื่องผีเข้าด้วยกันยังไง
หนังของพี่จะมีความละมุนละไมอยู่ในเนื้องาน มีความหวานโรแมนติก แต่ที่คอนทราสต์คือจะมีความดาร์กอยู่ด้วย เรื่องนี้พี่มองว่ามันน่าจะเริ่มต้นจากความสัมพันธ์ที่ดูคลุมเครือ เป็นรักโรแมนติกของวัยรุ่นที่ดูหวานหน่อย จากนั้นเรื่องจะค่อยๆ เทิร์นเข้าสู่เขตของความมืด มีอันตราย มีมือปืน ผี ซึ่งก็เป็นจักรวาลคู่ขนานไป มันอาจจะเป็นความฝันหรือเป็นอีกโลกหนึ่งก็ได้ เรื่องนี้จะมิกซ์ระหว่างความจริงกับความฝัน และไม่ได้ระบุชัดเจนว่าพาร์ทไหนเป็นเรื่องจริง เพื่อให้คนดูได้ตีความว่าสถานการณ์จริงๆ คืออะไรกันแน่ เพราะเราไม่ได้คิดว่าจะทำหนังเพื่อชี้จุดปัญหาไปอย่างชัดเจน แต่ต้องการตั้งคำถามมากกว่า
ฟีดแบ็กของเรื่องคืนสีน้ำเงินที่ฉายไปแล้วเป็นยังไงบ้าง
เราชอบมากเลยนะ มีทั้งคนด่า คนชม คนที่ดูไม่รู้เรื่อง หลายคนมาถกเถียงกันว่าเรื่องมันเป็นยังไง เด็กฆ่าพ่อแม่เพราะอะไร มีปัญหาอะไรที่รุมล้อมเด็กบ้าง เด็กมันชั่วจริงไหม ก็ตั้งคำถามได้ไม่รู้จบ บางคนก็ช่างแม่ง ไม่เถียงแล้ว ก็ตรงกับที่เราคาดไว้ เป็นฟีดแบ็กที่พี่พอใจ
เรื่องราวต่างๆ จะถูกขยายให้ชัดเจนขึ้นใน The Blue Hour หรือเปล่า
พี่อ่านความเห็นในอินเทอร์เน็ต เขาก็คิดว่าหนังยาวต้องเล่าเคลียร์แน่เลยว่าเรื่องมันเป็นยังไงมายังไง แต่จริงๆ ก็ยังเล่าเรื่องเดียวกัน ใช้วิธีเล่าแบบเดิม คอนเซปท์แบบเดิม แค่ขยายในประเด็นทางสังคมมากขึ้น ก็น่าจะทำให้การถกเถียงกว้างออกไปได้อีกในหลายแง่
อย่างน้อยๆ งานทุกอย่างที่ได้ทำในเรื่องนี้จะถูกโชว์ออกมาด้วย การแสดงจะเต็มขึ้น และพี่คิดว่าน่าจะมีคนชอบการแสดงของโอบ (โอบนิธิ วิวรรธนวรางค์) และกัน (อรรถพันธ์ พูลสวัสดิ์) อารมณ์จะเต็มอิ่มกว่า เพราะจังหวะของหนังมีเวลามากกว่าในการค่อยๆ เปิดเผยอารมณ์ และบางซีนถูกถ่ายมาเพื่อจะฉายจอภาพยนตร์ มันก็จะเต็มอย่างที่เราต้องการ บางคนดูคืนสีน้ำเงินผ่านโทรทัศน์อาจบอกว่าไม่น่ากลัว แต่ไปฉายที่เบอร์ลินนี่ฝรั่งเขากรี๊ดกันน่ากลัวมาก
ความยากของการถ่ายทำเรื่อง The Blue Hour คืออะไร
เราได้คิวถ่าย 7 วันซึ่งถือว่าน้อยมากในการทำหนังยาว คุยกับเพื่อนผู้กำกับในเทศกาล เขาถ่ายกัน 30-40 คิว เราก็อิจฉาเขามากว่าเขาคงได้ลองอะไรหลายๆ อย่าง แต่ก็ถือเป็นโอกาสดีที่ต้องน้อมรับและทำให้ดีที่สุด มันคือการดิ้นรนตามวิถีคนทำหนังอินดี้ในเมืองไทย ซึ่งทางนั้นเขาก็มองว่าอะเมซิ่งมาก คนดูปรบมือให้เมื่อเขารู้ว่าเวลาถ่ายแค่นี้เอง มันดูเป็นไปไม่ได้สำหรับเขาที่จะทำหนังออกมาในเวลาเท่านี้
ความยากของเรื่องนี้มันก็ยากหมด คอนเซปท์เรื่องก็ด้วย การนำเสนอเรื่องแนวนี้ออกไปในสื่อทีวีที่คนดูเป็นแมสแต่หนังมีความเป็นศิลปะสูง มันก็ยากนะ หนึ่งคือคุณกล้าพอหรือเปล่า เพราะรู้เลยว่าทำออกไป จะมีคนดูไม่เข้าใจแล้วมีเสียงตอบรับที่ไม่ดีออกมา หรือว่าถ้าเราทำไม่ดี ไม่เข้าท่า เพราะประเด็นเรื่องความรุนแรงในครอบครัวมันเปราะบางมาก ถ้าคนดูยอมรับไม่ได้ในประเด็นที่จะสื่อ มันก็เสี่ยง
ปัญหาเรื่องโปรดักชั่นเป็นปกติของหนังไทยอยู่แล้ว เพียงแต่เราก็กลัวว่าถ้ามันแย่แล้วคุณภาพหนังจะไปไม่ถึงหรือเปล่า เรามองแล้วว่าต้องไปถึงระดับนานาชาติ เพราะฉะนั้น จะทำยังไงให้หนังเรามี production value เท่าเขา
ทำไมถึงเลือกมาสายกำกับภาพยนตร์อินดี้ ไม่เอาตัวเองไปอยู่ในวงการภาพยนตร์กระแสหลัก
ตอนเราเรียนจบใหม่ๆ ก็มีผลงานที่มีชื่อพอสมควร เราทำโปรเจกต์ไปเสนอค่ายหนังหลายค่ายอยู่เหมือนกัน แต่ตอนนั้นอาจยังไม่ได้เชื่อมั่นในแนวทางตัวเองมาก ก็เขียนให้เป็นแนว commercial หน่อย ยังไม่สามารถเล่าเรื่องเกย์ได้ เพราะคนก็บอกว่าหนังเกย์มันขายไม่ได้หรอก เแต่พยายามให้มันลิ้งค์กับสิ่งที่เราชอบบ้าง อย่างเรื่องสยองขวัญหรืออีโรติก และเราก็พบว่ามันไม่สำเร็จ โปรเจกต์ไม่สามารถดำเนินต่อไปจนออกมาเป็นหนังได้ เพราะการทำหนังเรื่องหนึ่งมันใช้เรี่ยวแรงมาก ใช้ความอดทนสูง และระยะเวลามากที่เราต้องอยู่กับมัน ถ้าหนังนั้นไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่สิ่งที่เราชอบ เราก็จะไม่มีแรงทำต่อ มันแผ่วและล้มหายตายจากไปในที่สุด เราทำไปสักพักก็รู้เลยว่าไม่เอาแล้ว เราต้องหาที่ทางของเราให้สามารถทำหนังอย่างที่ต้องการให้ได้
เราเลยเลือกอีกทางคือทำโปรดักชั่นเฮ้าส์เล็กๆ ขึ้นมา ผ่านมาเป็น 10 ปีก็ไม่ได้มีหนังให้เราทำ ก็ทำโฆษณาอะไรไปเรื่อย แต่เรายังมีความฝันที่อยากจะทำหนังอยู่ ก็สร้างทีมจนตอนนี้มีทีมกล้อง บริษัทตัดต่อ และทีมโปรดักชั่นเป็นของตัวเอง พอถึงเวลาหนึ่งมันก็พร้อม เราสร้างที่ยืนของเราขึ้นมา ต่อจากนี้เราก็จะทำหนังอย่างที่เราต้องการได้
ถ้าเทียบกันแล้ว ผู้กำกับภาพยนตร์ยุคก่อนน่าจะไปสายอินดี้ได้ยากกว่าสมัยนี้หรือเปล่า
สมัยนี้มันทั้งยากทั้งง่ายนะ เพราะสมัยที่เราจบใหม่ๆ หนังอินดี้ไทยยังไม่เป็นที่รู้จักในเวทีโลกมาก คนที่แผ้วทางในยุคแรกๆ อย่างพี่เจ้ย-อภิชาติพงศ์, พี่เป็นเอก รัตนเรือง เขาก็ใช้กำลังมากเพื่อจะหาลู่ทางไปอยู่ตรงนั้นได้ ที่พวกนั้นยังไม่ถูกจับจอง แต่ก่อนอาจยากตรงทุนสร้างที่เราไม่มีข้อมูลว่าจะขอทุนจากฝรั่งเศสต้องทำยังไง
ตอนนี้มีคนที่เป็นแรงบันดาลใจมากมาย ทุกคนสามารถเดินตามได้ แต่ในขณะเดียวกันมันก็ยาก เพราะเราต้องหาจุดยืนทางศิลปะในสไตล์ที่ไม่ซ้ำด้วย ต่างประเทศไม่ต้องการอภิชาติพงศ์ 2 เขาต้องการแนวทางที่ต่างออกไป และทุนก็มีเท่านี้ เราไม่ได้แข่งกันแค่ในประเทศไทย มีคนที่เข้ามาแย่งชิงทุนซึ่งมีจำนวนจำกัดเยอะขึ้น แข่งกันทั้งอาเซียนและยังต้องแข่งกับภูมิภาคอื่นอีก
ช่วงนี้มีละคร ภาพยนตร์ที่นำเสนอเรื่องเกย์และเพศที่สามเยอะขึ้นมาก มองว่ามันจะเป็นแค่กระแสไหม
เรามองว่าหนังเกย์ในไทยค่อนข้างพิเศษนะ จัดเป็น genre หนึ่งไปเลยก็ได้ เท่าที่ทราบคือประเทศอื่นไม่ได้มีเยอะหรือฉายได้เสรีขนาดนี้ หนังเพศที่สามมีวิวัฒนาการมาตั้งนานแล้ว เพียงแต่ว่าสมัยก่อนมันถูกนำเสนอในรูปแบบของกะเทยโดยมาก กรอบยังคงเป็นชาย-หญิงอยู่ เกย์ไม่มี ต้องเป็นกะเทยไปเลย กรี๊ดวี้ดว้าย ตลกไปเลยพอสังคมเปิดกว้างมากขึ้น เริ่มเข้าใจว่าเกย์มีหลายแบบ ไม่ได้ต้องตุ้งติ้ง ดูนุ่มนวลก็มี ดูเหมือนผู้ชายเลยก็มี หนังแนวนี้ก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย จากพรางชมพู กะเทยประจัญบาน (2002), ปล้นนะยะ (2003) มาสมัยนี้ก็เพียงแต่เปลี่ยนจากกะเทยเป็นเกย์ ถ้าฮอร์โมนส์สร้างเมื่อ 20 ปีที่แล้วอาจจะมีตัวละครกะเทยก็ได้ พี่คิดว่ามันก็อยู่คู่สังคมไทยมาเรื่อยๆ และคงไม่หายไป เพราะคนไทยดูแล้วก็รับกับมันได้ และมีกลุ่มก้อนที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ
บทสนทนาชั่วโมงกว่าที่เราได้พูดคุยกับอนุชา ย้ำชัดว่ากว่าการสร้างภาพยนตร์ที่ผู้กำกับยืนหยัดในสไตล์ที่ชัดเจนของตัวเองไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเป็นหนังที่เล่าด้วยภาษาทางศิลปะ แถมยังมีเนื้อหาสะท้อนสังคมไทยด้วยแล้ว หลายคนก็พร้อมจะเบือนหน้าหนี
แต่ถ้าเรา-ในฐานะผู้ชม รู้ถึงความตั้งใจของผู้กำกับ นักแสดง และทีมงานทุกคน ก็คงไม่ยากนักที่จะลองเปิดใจ เปิดโอกาสให้หนังเหล่านี้มีพื้นที่มากขึ้น, เราเชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยเลยตั้งหน้าตั้งตารอวันที่ The Blue Hour เข้าฉาย
ไม่ได้จะเชียร์อย่างออกนอกหน้า แต่ถ้าผลตอบรับของ The Blue Hour ออกมาดีทั้งในแง่รายได้และคุณภาพ ก็ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่จะพอเชื่อได้ว่าวงการภาพยนตร์ไทยจะไปต่อได้อีกยาว
The Blue Hour (อนธการ) จะฉายเป็นภาพยนตร์ปิดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ กรุงเทพฯ 2015 วันที่ 14 มิถุนายนนี้ ก่อนจะเข้าฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วไปช่วงเดือนสิงหาคม
ติดตามรายละเอียดได้ที่เพจ The Blue Hour
NEW RELEASE: พูดคุยกับศิลปินที่มีผลงานใหม่น่าจับตามอง สำรวจความคิดเบื้องหลังและทัศนคติดีๆ ที่จะเปลี่ยนมุมมองบางอย่างกับคุณ
มีใครน่าสนใจหรืออยากให้สัมภาษณ์ใคร ส่งมาบอกเราได้ที่ [email protected]
You may be interested
คุณครูอวดของขวัญชิ้นประทับใจจากลูกศิษย์ตัวน้อยผู้ไม่มีอะไรจะให้..แต่ก็หามาให้จนได้
Sapparot - Dec 26, 2018คุณครูชั้นประถมในสหรัฐฯ อวดของขวัญชิ้นโดนใจที่ได้รับในช่วงเทศกาลแห่งความสุขจากลูกศิษย์ตัวน้อยที่แม้ตัวเองจะไม่มีอะไรก็ยังตั้งใจสรรหาของขวัญมาให้คุณครูจนได้ ถึงจะเป็นแค่มาร์ชเมลโลว์จากซีเรียลอาหารเช้าธรรมดา ๆ แต่เพราะว่ามีความตั้งใจของหนูอยู่เต็มเปี่ยมในนั้น มันเลยพิเศษที่สุดเลย
10 รูปยอดไลค์สูงสุดใน Instagram 2018
Sapparot - Dec 25, 201810 รูปยอดไลค์สูงสุดจาก Instagram ปี 2018 รวมแล้วมาจากคนดังระดับโลกเพียง 5 คนเท่านั้น โดยมีหนูน้อย Stromi ลูกสาว Kylie Jenner เรียกยอดไลค์กดหัวใจให้คุณแม่ได้อย่างดีเชียว
อาทิตย์และดวงจันทร์ Rose Céleste เครื่องประดับน่ารักจาก Dior
Sapparot - Dec 24, 2018Dior เผยโฉมแอคเซสซอรี่ชิ้นใหม่ Rose Céleste จี้กลมรูปพระอาทิตย์-พระจันทร์ งานแฮนด์เมดสุดปราณีตจากทองคำและเปลือกหอยมุก