ชีวิตไฮโซ แต่โลว์อินคัม: ปอกเปลือกรสนิยมของคนไทยยุคใหม่
เราเชื่อว่าผลสำรวจของอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ และไทยประกันชีวิต ที่เผยแพร่ในงานเสวนา “จับเทรนด์คนไทย เจาะหัวใจการตลาด” เมื่อ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา คงจี้ใจดำใครหลายคนจนต้องมีสะดุ้งกันบ้าง เราเองก็เป็นหนึ่งในนั้น
ผลสำรวจระบุว่าคนไทยยุคใหม่ หรือกลุ่มคน Gen-Y มีรสนิยมที่สวนทางกับรายได้ พวกเขามักหมดเงินไปกับมื้ออาหารในร้านหรู ทริปท่องเที่ยวต่างประเทศ และรีสอร์ต-โรงแรมราคาแพง ซึ่งนอกจากจะทำให้ไม่มีเงินออมแล้ว บางคนอาจก่อหนี้ด้วยซ้ำ นี่ก็แปลว่าภาพสวยๆ แคปชั่น “ชีวิตดี๊ดีย์” ที่เราเห็นบนฟีดเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม อาจไม่ได้ดีจริงเสมอไป หรืออาจดีแค่วันนี้วันเดียวก็เป็นได้
เราถือโอกาสนี้ต่อสายคุยกับนักวิชาการด้านสื่อและด้านการตลาด เพื่อหาคำตอบว่าเราเริ่มเปิดรับรสนิยมนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่กัน และในเมื่อเราหนีกระแสบริโภคนิยมไม่พ้น เราจะมีวิธีรับมือกับมันอย่างไรให้เจ็บตัวน้อยที่สุด
จุดกำเนิดรสนิยมหรู
“พฤติกรรมของคนในยุคนี้ หลังปี 2000 เป็นต้นมา ใช้ชีวิตอยู่กับสื่อค่อนข้างมาก ไม่ใช่แค่ผู้รับสารเฉยๆ แต่เป็นผู้ใช้สาร ผู้ส่งต่อข่าวสาร หรือแม้กระทั่งสื่อสารเรื่องตัวเองออกไปในโลกออนไลน์ ซึ่งยุคนี้โลกออนไลน์เป็นเรื่องที่ทุกคนพูดถึงแต่ตัวเอง ใช้โซเชียลมีเดียในการสร้างสถานภาพทางสังคม” ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการประจำสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) อธิบายให้เราฟัง
ธามบอกว่า ทุกวันนี้เทคโนโลยีกลายเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของคน จากการไลค์ แชร์ ฟอลโลว์ เหล่าดารา-เซเลบบริตี้ จนนำไปสู่การเลียนแบบพฤติกรรมในเวลาอันรวดเร็ว
“ทุกอย่างในโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก ไอจี ทุกคนจะพูดเฉพาะด้านบวกของตัวเอง พูดเฉพาะด้านดี ด้านประสบความสำเร็จ แต่เค้าจะไม่พูดถึงอุปสรรคและปัญหา พูดง่ายๆ ก็คือที่เราเห็นคือข้อมูลที่มาจากการสร้างภาพในเชิงบวก ถ้าเกิดเราหลงใหลในสิ่งเหล่านี้ ชอบให้มีคนกดไลค์ มาเม้น มันคือความอยากประสบความสำเร็จในชีวิตออนไลน์ ซึ่งยุคนี้ก็มีเน็ตไอดอล บล็อกเกอร์ เกิดขึ้นมากมาย มันก็เหมือนเป็นกับดักที่จะทำให้เราอยากมีชีวิตเหมือนเค้า” ธามกล่าว
การตลาดกับกลุ่มเจนวาย
การเลียนแบบชีวิตดาราหรือคนดังนี่เองที่ทำให้เราตกเป็นทาสการตลาดโดยไม่รู้ตัว และเมื่อนักการตลาดจับจุดได้ หันมาโฆษณาผ่าน Influener ในโซเชียลมีเดีย ก็ยิ่งทำให้รสนิยม “กินหรู อยู่สบาย” กลายเป็นค่านิยมกระแสหลักที่ทุกคนต้องยึดถือ หากไม่อยากตกเทรนด์
“จุดอ่อนของผู้บริโภคในยุคนี้คือเรามักจะใช้อารมณ์ตัดสินใจ ไม่คำนึงถึงเหตุผล หลายคนอาจจะลืมไปว่าซื้อมาแล้วมันจำเป็นมั้ย ราคาสมเหตุสมผลหรือไม่ ส่วนบางคนใช้เพราะเพื่อนใช้เราเลยใช้ตาม ดาราซื้อเราก็ซื้อด้วย ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรมีเกราะกำบังด้วยการมีจิตใจที่เข้มแข็งในการใช้ชีวิต เพราะทุกวันนี้สื่อทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ เต็มไปด้วยโฆษณาจูงใจ” ผศ.เสริมยศ ธรรมรักษ์ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารแบรนด์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อธิบาย
ผศ.เสริมยศเล่าเสริมว่า อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนยุคนี้เสียเงินในกระเป๋าง่ายขึ้น คือช่องทางซื้อขายสินค้าออนไลน์ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่การทำธุรกรรมออนไลน์มีความปลอดภัยมากขึ้น เว็บ e-commerce จึงเกิดขึ้นทุกวัน และได้เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคให้หันมาจับจ่ายใช้สอยผ่านออนไลน์มากขึ้น
ชีวิตหรูแต่รวยหนี้
จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะรู้ตัวว่าเรากำลังติดกับดักรสนิยมหรูรึเปล่า เพราะการใช้ชีวิตและระดับเงินออมเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ไม่มีถูกผิด กระนั้นก็ตาม เราอยากชวนให้มองตัวเลขในภาพรวม แล้วจะเห็นชัดขึ้นว่ารสนิยมหรูในวันนี้อาจส่งผลเสียในวันหน้าได้จริงๆ ทั้งในระดับบุคคลและระดับประเทศ
ผลสำรวจที่เผยแพร่ในงานเสวนาครั้งนี้ได้คาดการณ์ว่า ในอีก 20 ปี คนไทยจะมีอายุขัยเฉลี่ย 73-80 ปี ทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น โดยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงถึง 20% ของประชากร แต่ที่น่าเศร้าคือคนเหล่านี้ก็จะไม่มีเงินเก็บออมไว้ใช้เลย
เอไอเอ ประเทศไทย ยังได้สำรวจนิสัยการออมของคนไทยเมื่อปี 2550 และพบว่าคนไทยกว่า 83% ไม่มีการออมเงินเป็นประจำ 57% ไม่มีเงินพอที่จะใช้ชีวิตหลังเกษียณ และส่วนใหญ่จะเริ่มคิดและวางแผนชีวิตหลังเกษียณเมื่ออายุ 44 ปี ซึ่งช้ากว่าอายุเฉลี่ยของคนในภูมิภาคเอเชียไปถึง 5 ปี
ผศ.เสริมยศแนะว่า ผู้บริโภคควรสร้างภูมิคุ้มกันในการใช้จ่ายและเริ่มตั้งคำถามว่าสินค้าและบริการต่างๆ เหล่านั้นจำเป็นจริงๆ กับเราหรือไม่
“ผลการสำรวจออกมาแบบนี้ก็ค่อนข้างน่าเป็นห่วง ยิ่งธุรกิจนึงในวันนี้ส่งเสริมให้คนใช้เงินเกินตัว ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อ Personal Loan บัตรเครดิต รถแลกเงิน ถ้าผู้บริโภคไม่มีวิจารณญาณหรือลืมยั้งคิดไปว่านี่มันคือการนำเงินในอนาคตมาใช้ มันอาจจะส่งผลให้เกิดการเป็นหนี้มากขึ้น อีกอย่างคือการทำโปรโมชั่น ผ่อนได้นาน ผ่อนได้ 0% มันก็ผลักดันให้คนซื้อของมากขึ้น รวมไปถึงซื้อของราคาแพงๆ ที่เป็นการใช้เงินเกินตัว” ผศ.เสริมยศระบุ
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น เราเองก็บอกไม่ได้ว่าการใช้ชีวิตแบบไหนเหมาะสมหรือถูกต้อง และแต่ละคนก็คงมีคำตอบอยู่ลึกๆ แล้วว่า “ชีวิตดี๊ดีย์” ที่กำลังใช้อยู่นั้นเป็นจริงตามที่แสดงออกมารึเปล่า ทีนี้ก็ต้องดูต่อไปว่าเราเข้มแข็งพอที่จะฟังและเชื่อคำตอบนั้นหรือไม่
You may be interested
คุณครูอวดของขวัญชิ้นประทับใจจากลูกศิษย์ตัวน้อยผู้ไม่มีอะไรจะให้..แต่ก็หามาให้จนได้
Sapparot - Dec 26, 2018คุณครูชั้นประถมในสหรัฐฯ อวดของขวัญชิ้นโดนใจที่ได้รับในช่วงเทศกาลแห่งความสุขจากลูกศิษย์ตัวน้อยที่แม้ตัวเองจะไม่มีอะไรก็ยังตั้งใจสรรหาของขวัญมาให้คุณครูจนได้ ถึงจะเป็นแค่มาร์ชเมลโลว์จากซีเรียลอาหารเช้าธรรมดา ๆ แต่เพราะว่ามีความตั้งใจของหนูอยู่เต็มเปี่ยมในนั้น มันเลยพิเศษที่สุดเลย
10 รูปยอดไลค์สูงสุดใน Instagram 2018
Sapparot - Dec 25, 201810 รูปยอดไลค์สูงสุดจาก Instagram ปี 2018 รวมแล้วมาจากคนดังระดับโลกเพียง 5 คนเท่านั้น โดยมีหนูน้อย Stromi ลูกสาว Kylie Jenner เรียกยอดไลค์กดหัวใจให้คุณแม่ได้อย่างดีเชียว
อาทิตย์และดวงจันทร์ Rose Céleste เครื่องประดับน่ารักจาก Dior
Sapparot - Dec 24, 2018Dior เผยโฉมแอคเซสซอรี่ชิ้นใหม่ Rose Céleste จี้กลมรูปพระอาทิตย์-พระจันทร์ งานแฮนด์เมดสุดปราณีตจากทองคำและเปลือกหอยมุก