​ลมใต้ปีก: 3 องค์กรกับภารกิจสนับสนุนประชาชนต้านเซเว่นฯ

June 10, 2016
1484 Views
ปรากฏการณ์บอยคอตร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นและสินค้าเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เมื่อ 7-11 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถือเป็นหนึ่งในกระแสผู้บริโภคที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายปีอย่างปฏิเสธไม่ได้ ถ้าเปรียบปรากฏการณ์นี้เป็นดั่งกระแสลม การออกแถลงการณ์ร่วมของ 3 องค์กรภาคประชาชนในช่วงเวลาเดียวกันคงเป็น “ลมใต้ปีก” ที่ช่วยเสริมแรงขับให้กระแสลมก้อนใหญ่พัดไปอย่างทรงพลังมากขึ้น

เราสนใจ “ลมใต้ปีก” วูบใหญ่วูบนี้เป็นพิเศษ จึงนัดคุยกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิชีววิถี (BioThai) และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ไปพร้อมกัน เพื่อหาแรงจูงใจร่วมที่ทำให้องค์กรทั้ง 3 จับมือกันสนับสนุนแคมเปญนี้ เรียนรู้ปัญหาการผูกขาดตลาดในภาพรวม และหาข้อสรุปว่าสุดท้ายแล้วในฐานะผู้บริโภคธรรมดาๆ คนหนึ่ง เราควรจะเลือกซื้อหรือไม่ซื้อใครอย่างไรกันแน่

จากซ้ายไปขวา: กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่ม FTA Watch, กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี, สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ภาพ: FTA Watch, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
 

แค่ไหนเรียกผูกขาด?

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค-องค์กรที่เกี่ยวข้องโดยตรงในฐานะผู้คุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภค เป็นองค์กรแรกๆ ที่เราพอคาดเดาได้ว่าน่าจะออกมาร่วมเคลื่อนไหว

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคบอกกับเราว่า การรณรงค์ครั้งนี้เป็นไปตามสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคที่กำลังตื่นตัว มองเห็นปัญหาการเอารัดเอาเปรียบจากบริษัทยักษ์ใหญ่ และนี่ไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องสินค้าเฮ้าส์แบรนด์อย่างเดียว

“การที่คุณขายทุกอย่าง ผลิตทุกอย่าง จนไม่เหลือพื้นที่ให้ผู้ประกอบการอื่นๆ อันนี้เป็นประเด็นสำคัญที่สุด ลองคิดดู ไข่ต้มก็มี หมูปิ้งก็มี ร้านทั่วไปพวกนี้เค้าจะอยู่กันอย่างไร” สารีตั้งคำถาม

ในแง่ตัวเลข กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่ม FTA Watch มองต่างมุมกับชุดข้อมูลที่บุคคลากรของซีพีโพสต์ไว้ในโลกออนไลน์ก่อนหน้านี้ เธอบอกว่าแม้จำนวนร้านเซเว่นฯ ที่มีอยู่พันกว่าสาขาจะไม่มาก แต่ในเรื่องรายได้ เซเว่นฯ นำโชห่วยไปไกลอย่างเทียบไม่ติด

“เซเว่นตอนนี้ครองส่วนแบ่งทางการตลาดเยอะมากนะ สัดส่วนที่เค้าพูดก็คือว่า 1% ของร้านค้ารายย่อยซึ่งมีประมาณ 8 แสนราย แต่ว่าถ้าดูตัวเลขที่มูลนิถีชีววิถีทำขึ้นมาจะพบว่ารายได้ของเซเว่นคิดเป็น 93% ของรายได้ทั้งหมดจากร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ” กรรณิการ์อธิบาย

 

ตู้สินค้าแช่แข็งของร้านเซเว่นอีเลฟเว่น
 

ผูกขาดทางเลือก ผูกขาดความหลากหลายทางชีวภาพ

แม้เป้าหมายของการทำธุรกิจในโลกเสรีคือการทำให้ราคาสินค้าถูกลง มีคุณภาพและครบวงจร ซึ่งล้วนเป็นผลดีต่อผู้บริโภคทั้งสิ้น แต่ 3 องค์กรนี้กลับมองว่าความหลากหลายของผู้ประกอบการและสินค้ามากกว่า ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน เพราะเบื้องหลังของราคาสินค้าที่ถูกลง อาจต้องแลกมาด้วยความหลากหลายทางการผลิตและทางชีวภาพในด้านพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ที่ลดลงได้เช่นกัน

“การที่บริษัทขนาดใหญ่เจ้าของร้านสะดวกซื้อทำให้ร้านโชห่วยข้างบ้านหลายๆ ร้านต้องปิดตัวลง มันไม่ใช่แค่กระทบคนในครอบครัวเค้า แต่มันเดือดร้อนไปถึงร้านค้าปลีก เขียงหมู เขียงไก่ ร้านไข่ สุดท้ายคือกระทบเกษตรกร แล้วมันจะส่งผลถึงความหลากหลายของผู้บริโภค คุณจะกินอะไร กำไรจะเป็นตัวกำหนดการบริโภคของคุณ เมื่อทางเลือกในการบริโภคน้อยลง ก็จะกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ” สารีกล่าว

ขณะที่ กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี-องค์กรที่เฝ้าจับตาบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรมานานกว่าสิบปี เล่าให้ฟังว่าการผูกขาดสินค้าหลายประเภท รวมถึงการควบคุมสายพานการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำยังปลายน้ำ ทำให้ซีพีมีอำนาจมากเกินกว่าที่ผู้ประกอบการรายอื่น หรือแม้แต่พันธมิตรธุรกิจ จะสามารถออกสิทธิออกเสียงได้ จึงทำให้ความหลายหลายยิ่งแคบลงไปอีก

“สถานะตอนนี้คือไม่มีใครแข่งกับเค้าได้ ในโลกของการทำธุรกิจควรที่จะแบ่งกันกิน แบ่งกันใช้ ประเด็นคือถ้าทำคนเดียว กินคนเดียว คนอื่นก็ตายหมด อย่างกรณีเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด เค้าก็คือครองส่วนแบ่งทางการตลาดค่อนข้างสูง 60-70% เรียกว่าเป็นเจ้าของตลาดเลยก็ได้ หรือการที่บริษัทขนาดใหญ่ไปทำเกษตรพันธสัญญากับเกษตรกรที่มีอำนาจต่อรองน้อย เค้าก็อาจจะกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมกับเกษตรกร ผลักภาระความเสี่ยงต่างๆ ให้เค้าไป” กิ่งกรเล่า
 

กลไกภาครัฐไม่ทำงาน

การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในช่วงที่ผ่านมาเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนปัญหาคลาสสิกของไทยเรื่องการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐ และโครงสร้างของกฎหมายที่ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ประชาชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยเฉพาะพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน

“เรามีพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าที่ไม่เคยทำงานเลย เมื่อมีพฤติกรรมหรือการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลกระทบก็ไม่มีการดำเนินการทางกฎหมายเลย ไม่เคยถูกกฎหมายบังคับใช้ จึงควรแก้ไขกฎหมาย ปรับปรุงคณะกรรมการให้ผู้บริโภคซึ่งน่าจะเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ” กิ่งกรระบุ พร้อมย้ำว่าการแก้ไขกฎหมายเป็นสิ่งเร่งด่วน และจะเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืน

ส่วน กรรณิการ์ ชวนเรามองลึกเข้าไปถึงโครงสร้างชุดคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ซึ่งอาจจะเป็นต้นตอของปัญหาที่แท้จริง เธออธิบายว่าพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าในปัจจุบันมีภาคเอกชนอยู่ในชุดคณะกรรมการเป็นสัดส่วนสูงถึง 40% และมีข้าราชการอีก 40% นี่พออธิบายได้ว่าทำไมเราถึงไม่ค่อยเห็นผู้ประกอบการถูกดำเนินคดี

“คณะกรรมการยังอ้างว่า พ.ร.บ. นี้ใช้สำหรับร้องเรียนภาคธุรกิจด้วยกัน ไม่ใช่ภาคธุรกิจกับผู้บริโภค หรือคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากธุรกิจด้วยซ้ำไป เราเคยใช้พ.ร.บ.นี้ร้องให้สอบบริษัทยาแอ๊บบอต แต่คำถามแรกที่คณะกรรมการถามเราคือเรามีสิทธิที่จะมาร้องเรียนเค้าหรือ ในเมื่อมันเป็นพ.ร.บ.ธุรกิจกับธุรกิจเท่านั้น ทั้งที่มันควรจะเป็นพ.ร.บ.ที่เอาไว้คุ้มครองผู้บริโภคด้วยซ้ำไป” กรรณิการ์กล่าว
 

บทเรียนของผู้บริโภค

เราเชื่อว่าแคมเปญบอยคอตที่เพิ่งผ่านไปน่าจะให้บทเรียนสำคัญกับหลายฝ่าย โดยเฉพาะภาคประชาชนที่เริ่มลุกขึ้นมาตั้งคำถามและกล้าออกมาต่อสู้กับอิทธิพลต่างๆ (แม้อาจมีคนดึงการเมืองมาเกี่ยวข้อง แต่เราเชื่อว่าประชาชนที่อยากรักษาสิทธิของพวกเค้าเองก็มีไม่น้อย) บทเรียนครั้งนี้คงยังไม่จบลงไปพร้อมกับ 5 วันนี้ คำถามคือเราจะนำข้อคิดที่ได้จากเหตุการณ์นี้มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร?

“เริ่มแรก อยากให้ผู้บริโภคตัดสินใจก่อนจะซื้ออะไร เพราะสิทธิที่จะซื้อเป็นของเรา แน่นอนในชีวิตยุคปัจจุบันมันดูเร่งรีบ บางครั้งเราก็ไม่มีทางเลือกมาก แต่อยากให้ทุกคนพยายามเลือกก่อน แล้วค่อยทำชีวิตเหมือนจนมุม” กรรณิการ์สรุป พร้อมแนะว่าหากใครมีโอกาสอุดหนุนร้านของผู้ประกอบการรายย่อยได้ ก็ไม่ควรละเลย

ส่วน กิ่งกร ขอให้ประชาชนเริ่มสร้างความหลากหลายในการบริโภคมากยิ่งขึ้น เพราะสำหรับเธอแล้ว คุณภาพของชีวิตที่แท้จริงหมายถึงความหลากหลายมากกว่าความสะดวกสบาย

“เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่ายินดีหรือไม่ ที่จะให้ชีวิตเราไปพึ่งพากับบริษัทใดบริษัทหนึ่งมากเกินไป เราอย่าคิดว่าตัวเองไม่มีทางเลือก ไม่มีเซเว่นแล้วเราจะอยู่ยังไง ต้องเลิกคิดแบบนี้ ต้องปรับความคิดใหม่ ต้องลุกขึ้นมาหาทางเลือกให้กับตัวเอง” กิ่งกรทิ้งทาย

“เราอย่าไปเชื่อที่เค้าพูดกันว่าเราไม่มีเวลา เลยต้องไปกินอาหารแช่แข็ง มันสะดวกที่สุดในชีวิต แต่มันอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตก็ได้”
 

 
ภาพ: Coconuts Krungthep
Tell us what you think!

You may be interested

คุณครูอวดของขวัญชิ้นประทับใจจากลูกศิษย์ตัวน้อยผู้ไม่มีอะไรจะให้..แต่ก็หามาให้จนได้
AROUND THE WORLD
shares6093 views
AROUND THE WORLD
shares6093 views

คุณครูอวดของขวัญชิ้นประทับใจจากลูกศิษย์ตัวน้อยผู้ไม่มีอะไรจะให้..แต่ก็หามาให้จนได้

Sapparot - Dec 26, 2018

คุณครูชั้นประถมในสหรัฐฯ อวดของขวัญชิ้นโดนใจที่ได้รับในช่วงเทศกาลแห่งความสุขจากลูกศิษย์ตัวน้อยที่แม้ตัวเองจะไม่มีอะไรก็ยังตั้งใจสรรหาของขวัญมาให้คุณครูจนได้ ถึงจะเป็นแค่มาร์ชเมลโลว์จากซีเรียลอาหารเช้าธรรมดา ๆ แต่เพราะว่ามีความตั้งใจของหนูอยู่เต็มเปี่ยมในนั้น มันเลยพิเศษที่สุดเลย

10 รูปยอดไลค์สูงสุดใน Instagram 2018
LIFESTYLE
shares5320 views
LIFESTYLE
shares5320 views

10 รูปยอดไลค์สูงสุดใน Instagram 2018

Sapparot - Dec 25, 2018

10 รูปยอดไลค์สูงสุดจาก Instagram ปี 2018 รวมแล้วมาจากคนดังระดับโลกเพียง 5 คนเท่านั้น โดยมีหนูน้อย Stromi ลูกสาว Kylie Jenner เรียกยอดไลค์กดหัวใจให้คุณแม่ได้อย่างดีเชียว

อาทิตย์และดวงจันทร์ Rose Céleste เครื่องประดับน่ารักจาก Dior
Accesseries
shares4713 views
Accesseries
shares4713 views

อาทิตย์และดวงจันทร์ Rose Céleste เครื่องประดับน่ารักจาก Dior

Sapparot - Dec 24, 2018

Dior เผยโฉมแอคเซสซอรี่ชิ้นใหม่ Rose Céleste จี้กลมรูปพระอาทิตย์-พระจันทร์ งานแฮนด์เมดสุดปราณีตจากทองคำและเปลือกหอยมุก