MAKE MAKKASAN REAL: หรือมักกะสันจะเป็นแค่ฝันหวานของคนกรุง?

July 15, 2018
1236 Views

พื้นที่มักกะสันกลับมาอยู่ในความสนใจของคนกรุงเทพฯ อีกครั้ง หลังจากล่าสุด นายวุฒิชาติ กัลยานมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ระบุชัดว่าให้กระทรวงการคลังและเอกชนใช้ที่ดินมักกะสันบางส่วนเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ จนกลุ่มประชาชนที่รวมตัวกันขับเคลื่อนให้มักกะสันเป็นพื้นที่สาธารณะในชื่อ “เครือข่ายมักกะสัน” ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปร่วมลงชื่อโหวต เพื่อหยุดการเคลื่อนไหวดังกล่าวของรัฐบาล และยังบอกอีกว่าพื้นที่มักกะสันกำลังถูก “แบ่งเค้ก” เป็นชิ้นแยกย่อยมากมายโดยกลุ่มทุนใหญ่บางกลุ่ม

สารภาพว่าเรายังไม่เข้าใจเบื้องลึกเบื้องหลังของการลงชื่อโหวตครั้งนี้ดีนัก เรา-ในฐานะประชาชนมีสิทธิแค่ไหนที่จะร่วมออกแบบพื้นที่สีเขียวกว่า 500 ไร่ตรงนี้ เพื่อให้ภาพมักกะสันที่ตอนนี้เลือนราง ค่อยๆ ชัดเจนและเห็นข้อสรุปไปพร้อมกัน

บ่ายวันอาทิตย์ที่ Root Garden ทองหล่อ เรานัดพูดคุยกับอาทิตย์ โกวิทวรางกูร สมาชิกเครือข่ายมักกะสันคนหนึ่งที่พร้อมตอบข้อสงสัย และขยายภาพมักกะสันในสายตาพวกเขาว่ามันชัดเจนแค่ไหนแล้ว
 

เบรก ! มักกะสัน

“มันมีข่าวจากหลายทาง บางคนก็บอกว่าเป็นกลุ่มทุนที่ทำเรื่อง Duty Free บ้างก็บอกว่าเป็นกลุ่มทุนโรงพยาบาล บางคนก็บอกเป็นกลุ่มทุนเจ้าสัวใหญ่” อาทิตย์ชี้แจงถึงข้ออ้างที่เครือข่ายมักกะสันเขียนไว้ในหน้ารายละเอียดที่ให้ประชาชนลงชื่อร่วมโหวต ซึ่งคาดว่าเป็นกลุ่มทุนที่กำลังวิ่งล็อบบี้แย่งชิงพื้นที่ 140 ไร่ ที่กำลังจะกลายเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ต่อไปตามแผนของกระทรวงคมนาคม

“เรามองว่ารัฐบาลกำลังแก้ปัญหาในกรอบของมุมมองระยะสั้น ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ไม่คุ้มเสียมากๆ” อาทิตย์บอกพร้อมชี้ให้เห็นว่าพื้นที่มักกะสันมีศักยภาพสูงมากที่จะเป็นพื้นที่สาธารณะในมิติต่างๆ เช่นสุขภาพ การศึกษา หรือพัฒนาการของเด็ก ซึ่งหากคิดกันดีๆ มูลค่าที่ประเมินได้คร่าวๆ อาจจะมีถึงหนึ่งล้านล้านบาท ซึ่งสูงกว่าหนี้ 111,000 ล้านบาทของร.ฟ.ท.ที่รัฐบาลประเมินไว้ว่าจะเอาคืนมาได้

“การเปิดให้โหวตก็คือการรับสมัครแนวร่วมอย่างเป็นทางการว่ามีคนเห็นด้วย เราอยากให้รัฐเห็นว่าคนจำนวนมากคิดว่าวิธีการจัดการพื้นที่สาธารณะที่ใหญ่ขนาดนี้ควรเป็นกระบวนการที่หลายคนมีส่วนร่วม” อาทิตย์ตอบก่อนย้ำถึงจุดยืนของเครือข่ายมักกะสันว่าคือการเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนแผนพัฒนา และร่วมกันแสวงหาวิธีที่ดีกว่า ซึ่งมาจากการร่วมคิดร่วมสร้างโดยประชาชนทั้งหมด

สิ่งสำคัญที่ประชาชนควรเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับพื้นที่มักกะสันก็คือ เราต้องก้าวข้ามจากการเลือกว่าจะพัฒนาเป็นสวนสาธารณะหรือคอมเพล็กซ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะมันมีทางเลือกที่สามารถผสมผสานทั้งคู่ให้อยู่ด้วยกันได้ นี่เป็นบททดสอบหนึ่งที่คนกรุงเทพฯ จะได้ร่วมสร้างสรรค์เมืองของตัวเองให้เป็นประโยชน์กับทุกคน ทุกชนชั้น มากกว่าแค่บ่นอย่างเดียว
 

การเสวนาหัวข้อ “กรุงเทพฯ ต้องมีพื้นที่สาธารณะจริงหรือ?” ที่ Root Garden ทองหล่อ
วันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม 2558

 

พื้นที่สีเขียว + พื้นที่เชิงพาณิชย์

คำถามต่อมาก็คือแล้วพื้นที่แบบไหนที่ควรนำมาบรรจุไว้ในมักกะสัน?

เครือข่ายมักกะสันที่รวมอาสาสมัครนำโดยเครือข่ายประชาชนเพื่อหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ได้ร่วมกันศึกษากรณีตัวอย่างจากหลากหลายประเทศที่ทำสำเร็จแล้ว จนมองเห็นความเป็นไปได้ว่าพื้นที่สาธารณะที่ผลักดันโดยประชาชนสามารถเกิดขึ้นได้จริง

“เรามีทีมวิชาการที่ส่วนหนึ่งจะศึกษากรณีอื่นๆ ทั่วโลกว่าเขาบริการจัดการทางธุรกิจกันยังไง มีวิธีหารายได้ได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อที่เวลายื่นข้อเสนอจะได้หนักแน่นพอสมควร เราอยากได้ห้องสมุด ตอนนี้ก็กำลังขอข้อมูลจากหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์อยู่ว่าเขาบริหารกันยังไง และจะมีวิธีปรับแบบไหนให้เข้ากับบริบทไทยๆ” อาทิตย์อธิบายถึงวิธีการทำงานของสมาชิกเครือข่าย

“อีกส่วนหนึ่งคือพิสูจน์ว่าพื้นที่นี้ทำอะไรได้บ้าง เรามีนักวิชาการแต่ละด้านที่จะมองประโยชน์ของมัน อย่างอาจารย์ที่สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เขาก็จะดูเรื่องจิตวิทยากับสวนว่าช่วยบำบัดยังไง ถ้าตีมูลค่าออกมาในแง่สุขภาพจิตที่ดี สุขภาพร่างกายของประชาชนจะเป็นตัวเลขเท่าไหร่ หรือในแง่ระบบนิเวศ มีพื้นที่รับน้ำเท่าไหร่ เป็นปอดช่วยฟอกอากาศของคนกรุงเทพฯ ได้ขนาดไหน” ซึ่งอาทิตย์กล้าพูดว่าหากคะเนอย่างคร่าวๆ คุณค่าตรงนี้ก็มากกว่ามูลค่าทางอสังหาริมทรัพย์หลายเท่าแล้ว

ตัวอย่างพื้นที่ (module) ที่อาสาสมัครร่วมกันเสนอและประเมินแล้วว่าสามารถเป็นจริงได้ โดยอาศัยการที่มักกะสันเป็นพื้นที่ปะทะแรกของชาวต่างชาติจากสถานีแอร์พอร์ทลิงค์ คือการใช้เป็นเวทีแจ้งเกิดสำหรับ SME หรือนักออกแบบ ซึ่งปัจจุบันกระจัดกระจายอยู่ตามตลาดนัดจตุจักร สยามสแควร์ หรือย่านทองหล่อ

“เราไม่อยากได้คอมเพล็กซ์แบบที่เอาแบรนด์เนมเข้ามาแล้วดูดทรัพย์คนไทยออกไป แต่อยากให้เป็นเราที่ดูดทรัพย์ชาวต่างชาติ และไม่ใช่ทุนใหญ่บางเจ้าด้วย” อาทิตย์ย้ำว่าโมเดลตรงนี้จะแก้ปัญหาสำหรับผู้ประกอบการที่ไม่มีหน้าร้าน ซึ่งอาจจัดในรูปแบบ Pop-Up Store เวียนกันไปก็ได้

พื้นที่สำหรับการพูดคุยเพื่อคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้สะดวก, พื้นที่ที่เน้นพัฒนาการของเด็กทั้งในแง่ธรรมชาติและการเรียนรู้, ศูนย์แนะแนวการศึกษาทางเลือก หรือแนวคิดของยรรยง บุญ-หลง สถาปนิกผู้สนใจเรื่องวิถีขนส่งมวลชนแบบไทยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรือหางยาวในคลองแสนแสบ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือรถตุ๊กตุ๊ก ก็ร่วมเสนอแนวคิดให้มักกะสันเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ที่จำลองวิธีการเดินทางเหล่านั้นมาศึกษาและพัฒนาไปพร้อมกัน ตัวอย่างข้างต้นทั้งหมดอาจใช้พื้นที่รวมกันแค่ 40-50 ไร่ ยังเหลือพื้นที่อีกมากมายรอให้มาคิดมาออกแบบไปด้วยกัน

“เราอาจตั้งกฎเกณฑ์บางอย่าง เช่น ตึกทุกตึกต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น หรือสร้างอาคารที่มีพื้นที่สีเขียวมากที่สุดไม่เว้นบนหลังคา เราก็จะไม่ต้องมานั่งเถียงกันว่าจะใช้พื้นที่ตรงนี้คุ้มไหม เพราะพื้นที่สีเขียวกับพื้นที่เชิงพาณิชย์มันหลอมรวมด้วยกันได้ และมีอยู่ทั่วไปแล้วในโลกนี้ เพียงแต่ตอนนี้ตัวอย่างที่คนไทยเห็นยังจำกัดอยู่แค่สวนลุมพินีหรือสวนรถไฟ”
 

อาทิตย์ โกวิทวรางกูล สมาชิกเครือข่ายมักกะสัน ร่วมแสดงความคิดเห็นในการเสวนา

 

อาสาสร้างมักกะสัน

สิ่งแรกที่ใครก็ทำได้คือชวนคนใกล้ตัวพูดคุยเรื่องพื้นที่มักกะสัน ไม่ใช่หว่านล้อมหรือชวนเชื่อไปด้านใดด้านหนึ่ง แต่ตั้งคำถามว่าแต่ละคนคิดเห็นเรื่องนี้อย่างไร เราจะมีบทบาทอย่างไร เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขบคิดร่วมกัน หรือถ้าใครอินมากกว่านั้น เครือข่ายมักกะสันก็ยินดีต้อนรับอาสาสมัครที่จะมาช่วยออกแบบพื้นที่นี้อีกจำนวนมาก

อาทิตย์บอกเราว่าหลังจากเปิดให้ประชาชนลงชื่อเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้เครือข่ายได้เจอคนจำนวนมากที่มองภาพมักกะสันไปทางเดียวกัน อย่างดร.ศิริกุล เลากัยกุล ที่ปรึกษาด้านแบรนดิ้งขององค์กรหลายแห่งบริษัท หรือสถาปนิกที่ยกมือบอกว่าสนใจเรื่องพื้นที่สาธารณะ

“เราอยากร่วมเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันกับคนอื่น” อาทิตย์ย้ำกับเรา

เครือข่ายมักกะสันจึงทำหน้าที่เป็นเพียงตัวกลางรวบรวมความต้องการของประชาชนที่อยากเห็นพื้นที่สีเขียวนี้ในทิศทางใด และยื่นเสนอต่อรัฐบาลอีกครั้ง ด้วยความหวังว่านี่จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เป็นไปได้ โดยเครือข่ายจะเร่งเสนอข้อสรุปการประเมินมูลค่าไปก่อนในช่วง 1-2 เดือนนี้เพื่อให้รัฐบาลชะลอการพัฒนาพื้นที่อย่างแยกชิ้นแยกส่วน

“เราทำการบ้านให้รัฐบาลว่ามันมีวิธีที่ดีกว่าเพียบเลยนะ รัฐบาลช่วยลองคิดดูว่ามันใช่หรือไม่ เราตีความเข้าข้างตัวเองหรือเปล่า เราโลกสวย เราคัดค้านโดยที่ไม่มีข้อมูลจริงหรือเปล่า”

ในแง่หนึ่ง เครือข่ายมักกะสันเข้าใจถึงปัญหาภายในของรัฐบาลที่จำเป็นต้องพิจารณาถึงรายได้ที่จะหักลบกลบหนี้ให้ร.ฟ.ท. “แต่ถ้าคุณลองถอดกรอบของการคลัง ของการรถไฟ ลองนึกในกรอบของประชาชนคนธรรมดา คุณจะยังตัดสินใจแบบเดิมอยู่หรือเปล่า” อาทิตย์ตั้งคำถามที่ชวนให้คิด
 

พื้นที่ทดสอบประชาธิปไตย

เป็นธรรมชาติของการรณรงค์ประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาถกเถียงกันบ่อยครั้งในระยะเวลานาน เราอาจเริ่มสับสน จนนำไปสู่การตั้งคำถามว่า “สรุปแล้วเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร?”

อาทิตย์อธิบายให้เราฟังว่ายิ่งพื้นที่มักกะสันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ผลประโยชน์ทางธุรกิจต่างๆ ก็ยิ่งมีคนหลากหลายกลุ่มที่อยากเข้ามาได้รับความชอบธรรมจากผลประโยชน์นี้ไป

เครือข่ายมักกะสันเป็นอีกฝ่ายในฐานะภาคพลเมืองที่มองเห็นประโยชน์ที่ไม่ใช่แง่ธุรกิจ

พื้นที่มักกะสันจึงเป็นเหมือนตัวแทนของประชาธิปไตยสร้างสรรค์รูปแบบหนึ่ง ที่ทำให้พลเมืองได้เริ่มตั้งคำถามถึงคุณภาพชีวิตที่ตัวเองต้องการ เราอยากอยู่ในเมืองแบบไหน เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าใจสิทธิของตัวเองอย่างอย่างจริงๆ จังๆ มากกว่าแค่หย่อนบัตรเลือกตั้ง

“ให้มักกะสันถือเป็นความท้าทายร่วมกันของคนกรุงเทพฯ ว่าใช่หรือไม่ที่เราจะไม่สามารถจัดการชีวิตของเรากันได้ ซึ่งถ้าทำได้ เราจะมีความหวังและความมั่นใจในการจัดการปัญหาที่ใหญ่ขึ้นต่อไป” ตัวแทนจากเครือข่ายมักกะสันยังบอกอีกว่าพื้นที่มักกะสันจะเป็นต้นแบบทั้งในแง่กระบวนการและผลลัพธ์ให้กับคนในพื้นที่อื่นๆ “ถ้าคนที่ขอนแก่นเขาเห็นว่ากรุงเทพฯ ใหญ่ขนาดนี้ยังทำกันได้ เขาก็น่าจะทำกับพื้นที่ของเขา หรือคนแถวคลองสานอยากร่วมจัดการพื้นที่ระดับย่อยลงไปก็ทำได้”

และแม้ว่าสุดท้ายพื้นที่มักกะสันจะถูกออกแบบให้เป็นอย่างไร สิ่งที่เครือข่ายมักกะสันยืนยันก็คือนี่คือการส่งเสียงของประชาชนถึงทางเลือกที่ดีที่สุดที่เราทำได้

“จะพยายามทำจนกว่ามันจะไม่มีทางทำได้จริงๆ” อาทิตย์ทิ้งท้ายไว้กับเรา

 

ติดตามข่าวสารของเครือข่ายมักกะสันได้ที่ Makkasan.net
หรือร่วมแสดงความคิดเห็นว่าอยากเห็นมักกะสันเป็นอย่างไรได้ที่เพจ Imagine มักกะสัน 

ภาพ: Makkasan.net

Tell us what you think!

You may be interested

คุณครูอวดของขวัญชิ้นประทับใจจากลูกศิษย์ตัวน้อยผู้ไม่มีอะไรจะให้..แต่ก็หามาให้จนได้
AROUND THE WORLD
shares5769 views
AROUND THE WORLD
shares5769 views

คุณครูอวดของขวัญชิ้นประทับใจจากลูกศิษย์ตัวน้อยผู้ไม่มีอะไรจะให้..แต่ก็หามาให้จนได้

Sapparot - Dec 26, 2018

คุณครูชั้นประถมในสหรัฐฯ อวดของขวัญชิ้นโดนใจที่ได้รับในช่วงเทศกาลแห่งความสุขจากลูกศิษย์ตัวน้อยที่แม้ตัวเองจะไม่มีอะไรก็ยังตั้งใจสรรหาของขวัญมาให้คุณครูจนได้ ถึงจะเป็นแค่มาร์ชเมลโลว์จากซีเรียลอาหารเช้าธรรมดา ๆ แต่เพราะว่ามีความตั้งใจของหนูอยู่เต็มเปี่ยมในนั้น มันเลยพิเศษที่สุดเลย

10 รูปยอดไลค์สูงสุดใน Instagram 2018
LIFESTYLE
shares5030 views
LIFESTYLE
shares5030 views

10 รูปยอดไลค์สูงสุดใน Instagram 2018

Sapparot - Dec 25, 2018

10 รูปยอดไลค์สูงสุดจาก Instagram ปี 2018 รวมแล้วมาจากคนดังระดับโลกเพียง 5 คนเท่านั้น โดยมีหนูน้อย Stromi ลูกสาว Kylie Jenner เรียกยอดไลค์กดหัวใจให้คุณแม่ได้อย่างดีเชียว

อาทิตย์และดวงจันทร์ Rose Céleste เครื่องประดับน่ารักจาก Dior
Accesseries
shares4365 views
Accesseries
shares4365 views

อาทิตย์และดวงจันทร์ Rose Céleste เครื่องประดับน่ารักจาก Dior

Sapparot - Dec 24, 2018

Dior เผยโฉมแอคเซสซอรี่ชิ้นใหม่ Rose Céleste จี้กลมรูปพระอาทิตย์-พระจันทร์ งานแฮนด์เมดสุดปราณีตจากทองคำและเปลือกหอยมุก