“Feartober” ผลงานชุด 31 โรคแห่งความกลัว ในตัวคุณจะเป็นแบบไหนบ้างมาดูกัน

July 13, 2018
22057 Views

Shawn Coss อาร์ติสท์สายดาร์กชาวอเมริกัน กับผลงานโปรเจคท์ Inktober 31 วัน 31 โรคเกี่ยวกับความกลัว หรือ โฟเบีย (Phobia) ที่กัดกินจิตใจมนุษย์ให้หวาดผวา สวย หลอน ซ่อนความรู้ ไปดูกันว่าคุณมีความกลัวแบบไหนใน 31 โฟเบียนี้บ้างไหม

สำหรับผลงานชุด Inktober ในปีนี้ของชอว์น ยังพิมพ์ออกมาเป็นโฟโต้บุ๊ก Feartober และมีการนำไปทำเป็นลายเสื้อให้ร้าน Any Means Necessary ที่เขาเปิดอยู่ด้วย ใครชอบงานอาร์ตสไตล์นี้ไปชมและอุดหนุนกันได้ที่อินสตาแกรม shawncoss และเว็บไซต์ amnclothing.com เลย

 

1. เอธาซาโกราโฟเบีย (Athazagoraphobia)

การกลัวการถูกลืม ถูกปฏิเสธ การไม่มีตัวตน สาเหตุของโฟเบียชนิดนี้ส่วนใหญ่มาจากประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กประกอบกับแนวโน้มความเสี่ยงต่อโรคอย่างเรื่องยีน กรรมพันธุ์ เคมีในสมอง ซึ่งทั้งนี้โฟเบียหลายๆ รูปแบบก็มีสาเหตุจากประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กเช่นกัน

2. คลอสโตโฟเบีย (Claustrophobia)

Claustrophobia เป็นอาการกลัวที่แคบ กลัวการอยู่ในพื้นที่จำกัดและไม่สามารถหาทางออกได้ อาการนี้สามารถรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้มาก เพราะถูกกระตุ้นได้ง่ายจากการอยู่ในพื้นที่จำกัด อาทิ ลิฟต์ที่มีคนแน่น ห้องที่ไร้หน้าต่าง หรือแม้แต่การใส่เนคไทหรือเสื้อที่รัดคอมากเกินไป

3. โครโนโฟเบีย (Chronophobia)

Chronophobia คือโรคกลัวเวลา กลัวการผ่านพ้นไปของเวลา ผู้มีอาการนี้มีความจดจ่อและวิตกกังวลเรื่องเวลามากผิดปกติว่าเวลาล่วงผ่านเร็วไปหรือช้าเกินไป อาการผิดปกติที่แสดงออกมามีทั้งรู้สึกไม่สบายตัว เครียด เวียนหัว อึดอัดเหมือนอยู่ในที่แคบ เกิดอาการแพนิค บางคนอาจมีอาการคิดเรื่องเดียวกันวนซ้ำๆ ย้ำคิดย้ำทำ โดยอาการกลัวเวลานี้ยังสามารถเชื่อมโยงไปสู่ Chronomentrophobia หรือโรคกลัวนาฬิกา ซึ่งพบได้ยากกว่า

4. ไทรพาโนโฟเบีย (Trypanophobia)

โรคกลัวเข็ม ผู้ที่มีโฟเบียนี้กลัวเข็มฉีดยา กลัวการรักษาที่ต้องถูกฉีดสารหรือยาเข้าทางผิวหนัง นอกจากนี้ Trypanophobia ยังหมายรวมถึงความกลัววัตถุปลายแหลมอื่นๆ ด้วย

5. แอรัคโนโฟเบีย (Arachnophobia)

ผู้ที่เป็น Arachnophobia คือมีอาการกลัวแมงมุม นอกจากกลัวแมงมุมตัวเป็นๆ อันอาจทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นรัว หายใจถี่ แพนิค กรีดร้อง หรือร้องไห้แล้ว ยังมีแนวโน้มสูงที่จะกลัวและไม่เข้าใกล้สถานที่หรือบริเวณที่อาจเป็นที่อยู่ของแมงมุม หรือมีใยแมงมุม

6. นิคโตโฟเบีย (Nyctophobia)

กลัวความมืด โดยคำว่า Nuktos มาจากภาษากรีกแปลว่าความมืด เป็นอาการกลัวความมืดโดยไม่มีเหตุผล ต่างจากคนที่กลัวความมืดเพราะกลัวผีหรือเรื่องลี้ลับอื่นๆ

7. โทโคโฟเบีย (Tocophobia)

อาการ Tocophobia หรือกลัวการคลอดลูกนั้นเกิดขึ้นได้ทั้งกับผู้ที่ยังไม่เคยตั้งครรภ์หรือกำลังตั้งครรภ์ ตลอดจนผู้มีประสบการณ์ตั้งครรภ์และคลอดมาแล้ว ในกลุ่มแรกต้นตอความกลัวมักมาจากการขาดคำอธิบายที่ถูกต้องจากผู้เป็นแม่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการคลอด หรือผู้เป็นแม่พููดถึงแต่ความรู้สึกเจ็บปวดหรือความรู้สึกเชิงลบต่อการท้องและคลอด ตลอดจนอาจเคยถูกทารุณกรรมทางเพศมาก่อน การท้องและทำคลอดจึงทำให้หวนคิดถึงประสบการณ์เลวร้าย ขณะที่กลุ่มหลังอาจมีประสบการณ์ตั้งครรภ์และคลอดที่ไม่ดีในคราวแรก จนกลายเป็นอาการหวาดกลัวการคลอดลูกในที่สุด

8. เอโกราโฟเบีย (Agoraphobia)

Blennophobia คือความกลัวการอยู่ในที่แจ้ง สถานที่สาธารณะ ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่ถูกจัดให้เป็นอาการหนึ่งของความผิดปกติวิตกกังวล (Anxiety disorder) ในบางรายพบว่าประสบการณ์ที่เคยถูกทารุณและการเคยตกอยู่สภาพแวดล้อมกดดัน มีส่วนทำให้เกิดอาการเอโกราโฟเบีย

9. ทาโฟโฟเบีย (Taphophobia)

คำว่า Taph มาจากภาษากรีก แปลว่าฝังหรือหลุมศพ ผู้ที่เป็น Taphophobia มีอาการกลัวสุสาน หลุมศพ ตลอดจนกลัวการถูกฝัง คนกลุ่มนี้จะหลีกเลี่ยงการเดินหรือแม้แต่มองเห็นสุสาน สถานที่ฝังศพ

10. โคลโรโฟเบีย (Coulrophobia)

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กๆ จะกลัวตัวตลก เพราะเหล่า Clown นั้นมีหน้าตาแปลกประหลาดจากคนปกติ แต่หากความมีความหวาดกลัวถึงขั้นทำให้หวาดผวาและยังคงคิดตัวมาจนโต ก็เป็นอาการที่เข้าข่าย Coulrophobia

11. ฟิโลโฟเบีย (Philophobia)

ผู้มีอาการ Philophobia นั้นกลัวความรักและการตกหลุมรัก จะหลีกเลี่ยงการมีความรู้สึกโรแมนติก การผูกพันทางความรู้สึกในทุกๆ รูปแบบ บ่อยครั้งที่สืบลงไปแล้วพบว่าผู้มีโฟเบียชนิดนี้มีรากความกลัวมาจากการอยู่ในสังคมที่มีประเพณีจับคู่หรือคลุมถุงชน จนทำให้กลัวการมีความรักไปด้วย

12. เอคคลีซิโอโฟเบีย (Ecclesiophobia)

Ecclesi มาจากภาษากรีกแปลว่าโบสถ์ ผู้ที่มีอาการ Ecclesiophobia นั้นนอกจากกลัวโบสถ์ กลัวการเข้าไปในโบสถ์แล้ว ยังมีความเชื่อมโยงที่จะกลัวลัทธิศาสนาก่อตั้งต่างๆ กลัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และกลัวนักบวชอีกด้วย

13. สโกโปโฟเบีย (Scopophobia)

ความรู้สึกประหม่าย่อมเกิดขึ้นได้เมื่อต้องกลายเป็นจุดสนใจของคนหมู่มาก ขณะผู้มีอาการ Scopophobia นั้นมีความหวาดกลัวต่อการถูกจ้องมองไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดๆ และมักมีความกลัวการกลัวตกเป็นจุดสนใจร่วมด้วย

14. คีโรโฟเบีย (Cherophobia)

ผู้มีอาการ Cherophobia หวาดกลัวการมีความสุข และจะหลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือการกระทำใดๆ ที่นำสุขหรือความรู้สึกเชิงบวกมาให้

15. อีโซโตรโฟเบีย (Eisoptrophobia)

Eisoptrophobia คืออาการกลัวกระจกและเงาสะท้อน โดยผู้มีโฟเบียนี้ไม่ได้กลัวที่ตัวกระจก แต่กลัวสิ่งที่เห็นในกระจก หลายครั้งพบว่าผู้มีอาการยังมีปมด้านสังคมร่วมด้วย เนื่องการอยู่ในสังคมต้องสร้างภาพลักษณ์ตัวเองที่ดี เงาสะท้อนในกระจกบ่งบอกถึงภาพลักษณ์ตนเอง แต่กลับเป็นสะท้อนภาพตัวตนที่ตนเองไม่ต้องการ นอกจากนี้ผู้มีอาการอีโซโตรโฟเบียบางรายยังกลัวกระจกแตกเพราะคิดว่าจะนำโชคร้ายมาให้ บ้างกลัวจะมีตัวประหลาดออกมาจากกระจก หรือหวาดกลัวจะมีโลกอีกมิติหนึ่งในกระจก

16. ออโตมาโตโฟเบีย (Automatophobia)

Automatophobia คืออาการกลัวสิ่งที่เลียนแบบสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นหุ่นพูดได้ สิ่งจำลองสิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนไหวได้ ตลอดจนหุ่นลองเสื้อ หุ่นขี้ผึ้ง บางรายยังมีอาการ Necrophobia หรือกลัวศพร่วมด้วย

17. คีโนโฟเบีย (Kenophobia)

อาการกลัวความเวิ้งว้างว่างเปล่าหรือ Kenophobia สามารถเกิดได้ด้วยการส่งต่อจากบิดามารดาที่มีความกลัวแบบเดียวและกันนำข้าวของต่างๆ จำนวนมาก (ที่คนนอกอาจมองว่าเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือข้าวของเครื่องใช้) มาสุมวางไว้ในบ้านเพื่อไม่ให้บ้านโล่ง ผู้ที่มีโฟเบียลักษณะนี้จะมีความรู้สึกต้องการขอบเขตที่ชัดเจน ชอบอยู่ในห้องเล็กๆ กลัวการอยู่ในห้องโล่ง กลัวการอยู่ในห้องใหญ่เพียงคนเดียว บ่อยครั้งพบว่ามีความเกี่ยวโยงไปถึงอาการกลัวการอยู่ตัวคนเดียวด้วย

18. อีพิสเตโมโฟเบีย (Epistemophobia)

คำว่า Epistemo มาจากภาษากรีกแปลว่าความรู้ Epistemophobia คืออาการกลัวการมีความรู้ แม้ความรู้จะเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ แต่ผู้มีโฟเบียประเภทนี้พลังอันยิ่งใหญ่นั้นกลับเป็นความน่ากลัวอย่างใหญ่หลวง ความกลัวนี้เกิดขึ้นได้จากการอ่านบางสิ่งไปจนจบแล้วคิดได้ว่าตนเองไม่น่าได้รับรู้เรื่องนี้ หรือเป็นผู้ที่รู้สึกว่าตนมีหน้าที่ในการกระจายความรู้ข่าวสารออกไปสู่คนหมู่มาก แต่กลัวความรู้นั้นจะเป็นสิ่งผิดหรือไม่ถูกไม่ควร แล้วสุดท้ายจะทำให้เกิดความเดือดร้อน จึงเลือกที่จะไม่รู้อะไรเลยแต่ต้นดีกว่า คนที่มีความหวาดกลัวเช่นนี้จึงหลีกเลี่ยงการอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ และการเสพสื่อต่างๆ เพื่อไม่รับสาระความรู้ใดๆ โดยสิ้นเชิง

19. นีโครโฟเบีย (Necrophobia)

Necro มาจากภาษากรีกแปลว่าศพ แม้โดยทั่วไปคนย่อมไม่นิยมชมชอบศพกันอยู่แล้ว แต่ผู้ที่มีอาการ Necrophobia นั้นหวาดกลัวศพหรือร่างที่ไร้ชีวตเกินกว่าระดับคนปกติมาก

20. ซอมนิโฟเบีย (Somniphobia) 

นอนหลับเป็นกลไกการพักผ่อนของร่างกาย มนุษย์จึงย่อมต้องการนอน แต่ผู้มีอาการ Somniphobia กลับกลัวการนอนหลับ (หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Hypnophobia ตั้งตามรากภาษากรีกของคำว่า Hypno ที่แปลว่าหลับ ไม่ได้สติ ส่วน Somni มาจากภาษาละตินมีความหมายเช่นเดียวกัน) ส่วนใหญ่มักพบได้ในเด็ก ซึ่งเกิดจากการกลัวหลับฝันร้าย ขณะที่ในผู้ใหญ่อาจเกิดในผู้มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนจึงกลัวการนอนหลับ และบางส่วนที่กลัวจะมีสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นขณะหลับ หรือกลัวการที่ตนเองจะไม่สามารถควบคุมอะไรได้หากหลับไป

21. ธาลัสโซโฟเบีย (Thalassophobia)

ในภาษากรีก Thalassa แปลว่า ทะเล Thalasso จึงหมายถึง ความกลัวท้องทะเล การเดินทางในทะเล และหมายรวมถึงกลัวพื้นน้ำที่เวิ้งว้าง กลัวการอยู่ห่างจากฝั่ง ตลอดจนกลัวว่าจะมีตัวประหลาดแอบซ่อนอยู่ใต้น้ำด้วย ผู้มีอาการกลัวทะเลมักมีอาการวิตกกังวลร่วมด้วย หากพบแพทย์จึงอาจได้รับยารักษาตัวเดียวกัน

22. เอโพเทมโนโฟเบีย (Apotemnophobia) 

คำว่า Apo มาจากภาษากรีกแปลว่า ขาดจาก ห่างไกล ขณะที่ Temno ถูกตัด ทำให้ขาด ผู้ที่เป็น Apotemnophobia มีความหวาดกลัวผู้พิการ

23. ไพโรโฟเบีย (Pyrophobia) 

Pyro มาจากภาษาละตินแปลว่าไฟ Pyrophobia จึงหมายถึงคนที่กลัวไฟ เชื่อกันว่าเป็นความกลัวที่เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับที่มนุษย์ยุคแรกค้นพบการใช้ไฟ ผู้มีอาการไพโรโฟเบียมีความหวาดกลัวไฟมากกว่าคนปกติ ถึงขั้นไม่สามารถทนได้หากต้องเข้าใกล้กองไฟ เตาผิง แม้กระทั่งจุดเทียนหรือไม้ขีดไฟ สาเหตุหลักส่วนหนึ่งเกิดจากการมีประสบการณ์เลวร้ายเกี่ยวกับไฟในวัยเด็กมาก่อน อาทิ บ้านไฟไหม้ เกือบถูกไฟคลอก เป็นต้น

24. ไทรโปโฟเบีย (Trypophobia) 

Trypophobia หรือโรคกลัวรู เป็นความขยาดแขยงที่พบได้ในผู้คนจำนวนมาก ทว่าอาการกลัวรูนี้ไม่ถูกจัดให้เป็นความผิดปกติตามคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตของอเมริกา (American Psychiatric Association’s Diagnostic and Statistical Manual) โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่าคนทั่วไปมีแนวโน้มที่จะเกลียด ขยาดแขยงรูปรูถี่ๆ ในลักษณะนี้อยู่แล้ว

25. เพดิโอโฟเบีย (Pediophobia) 

Pediophobia หรืออาการกลัวตุ๊กตา เป็นอาการโฟเบียย่อยที่แตกออกจากความกลัวสิ่งเลียนแบบสิ่งมีชีวิตหรือ Automophobia โดยมักพบได้มากในเด็ก เด็กที่มีอาการหวาดกลัวตุ๊กตา นอกจากไม่ชอบตุ๊กตาแล้ว ยังไม่อุ้ม ไม่เล่น ไม่เข้าใกล้ตุ๊กตาเลย หากเข้าใกล้หรือสัมผัสอาจมีอาการผวา พูดตะกุกตะกัก ร้องไห้ คลื่นไส้ บางรายที่เป็นหนักอาจถึงขั้นไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ และเกิดอาการแพนิคเต็มรูปแบบ

26. อีมีโตโฟเบีย (Emetophobia) 

ผู้ที่มีอาการ Emetophobia คือบุคคลที่กลัวการอาเจียน และกลัวสิ่งกระตุ้นที่เกี่ยวข้องกับการอาเจียนด้วย เช่น กลัวการอาเจียนในที่สาธารณะ กลัวของเหลวที่สำรอกออกมา กลัวการเห็นคนอาเจียนหรือการแสดงท่าทางอาเจียน ตลอดจนกลัวอาการวิงเวียนที่อาจนำไปสูการอาเจียนได้

27. ไฮโลโฟเบีย (Hylophobia) 

Hylo มาจากภาษากรีกแปลว่าป่า ผู้มีอาการ Hylophobia จะกลัวป่าไม่ว่าจะเป็นป่าในลักษณะใดตาม นอกจากนี้ยังมีความเกี่ยวโยงกับความกลัวต้นไม้ (Dendrophobia) กลัวป่าทึบหรือกลัวป่าในยามค่ำคืน (Nyctohylophobia) และกลัวลำต้นของต้นไม้หรือสิ่งที่ทำมาจากไม้ด้วย (Xylophobia)

28. เบลนโนโฟเบีย (Blennophobia) 

Blennophobia คืออาการกลัวเมือกและของเหลวเหนียว สาเหตุอาจมาจากภาพจำจากในหนังหรือสื่อต่างๆ ที่ทำให้เห็นภาพเอเลี่ยนตัวประหลาดต่างๆ มีเมือกเหนียว คนที่ถูกกินมีเมือกหนืดเยิ้มเปื้อนทั้งตัว ให้ความรู้สึกเมือกเป็นสิ่งสกปรก เหม็น ไม่น่าสัมผัส อีกส่วนอาจมีประสบการณ์ไม่ดีจากเมือกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น เมือกของหอยทาก ฝังใจจนเกิดเป็นอาการหวาดกลัวเมือกและของเหลวหนืดเหนียวไป

29. โอฟิดิโอโฟเบีย (Ophidiophobia) 

คำว่า Ophis มาจากภาษากรีก แปลว่า งู นี่เป็นโรคกลัวงู คนที่เป็น Ophidiophobia นั้นกลัวงูไม่ว่าจะทั้งพิษงู และอันตรายอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้จากงู และไม่เพียงกลัวงูในรูปแบบตัวเป็นๆ แต่ยังกลัวงูที่ตายแล้วและภาพเคลื่อนไหวของงูด้วย

30. เวอร์โบโฟเบีย (Verbophobia) 

Verbophobia คือ อาการกลัวการพูด กลัวคำพูด (การอ่านคำ) โดยสาเหตุที่เกิดมีหลากหลาย ส่วนหนึ่งพบในกลุ่มผู้ไม่มีความรู้อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ทำให้กลัวการพูด กลัวเพราะรู้ว่าตัวเองไม่รู้ กลัวอับอายหากคนอื่นรู้ว่าตัวเองไม่รู้ อีกส่วนอาจเคยมีประสบการณ์เรื่องเลวร้ายจากการถ่ายทอดสิ่งที่อ่านมาแล้วพูดออกไป คนที่มีอาการ Verbophobia นอกจากจะไม่ยอมพูดแล้ว ยังมักหลีกเลี่ยงการอ่านหนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ กระทั่งการดูภาพยนตร์ที่มีซับไตเติลก็ทำให้รู้สึกไม่สบายใจไม่สบายตัว ผู้ที่เป็นหนักอาจเกิดอาการแพนิคได้

31. โบกีโฟเบีย (Bogyphobia) 

Bogyphobia คือ การกลัวปีศาจที่อยู่ในฝันหรือที่เรียกกันว่า โบกี้แมน (Bogeyman) แต่ตัวโบกี้แมนนี้ไม่มีรูปร่างหน้าตาที่แน่นอน แตกต่างกันไปตามจินตนาการของแต่ละคน ผู้เป็นโบกีโฟเบียกลัวการฝันร้ายเห็นปีศาจตนนี้ หลีกเเลี่ยงการเดินทางในที่มืดๆ เพราะหลังโบกี้แมนจะโผล่ออกมา โบกี้แมนซึ่งเป็นปีศาจในจินตนาการนี้เป็นผลิตผลจากการเสพหนังสยองขวัญและเรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติต่างๆ ตลอดจนการถูกผู้ใหญ่ขู่ด้วยเรื่องภูตผีปีศาจมาตั้งแต่วัยเด็ก

ที่มา: Bored Panda
ภาพ: เฟซบุ๊ก Shawn Coss

Tell us what you think!

You may be interested

คุณครูอวดของขวัญชิ้นประทับใจจากลูกศิษย์ตัวน้อยผู้ไม่มีอะไรจะให้..แต่ก็หามาให้จนได้
AROUND THE WORLD
shares6088 views
AROUND THE WORLD
shares6088 views

คุณครูอวดของขวัญชิ้นประทับใจจากลูกศิษย์ตัวน้อยผู้ไม่มีอะไรจะให้..แต่ก็หามาให้จนได้

Sapparot - Dec 26, 2018

คุณครูชั้นประถมในสหรัฐฯ อวดของขวัญชิ้นโดนใจที่ได้รับในช่วงเทศกาลแห่งความสุขจากลูกศิษย์ตัวน้อยที่แม้ตัวเองจะไม่มีอะไรก็ยังตั้งใจสรรหาของขวัญมาให้คุณครูจนได้ ถึงจะเป็นแค่มาร์ชเมลโลว์จากซีเรียลอาหารเช้าธรรมดา ๆ แต่เพราะว่ามีความตั้งใจของหนูอยู่เต็มเปี่ยมในนั้น มันเลยพิเศษที่สุดเลย

10 รูปยอดไลค์สูงสุดใน Instagram 2018
LIFESTYLE
shares5312 views
LIFESTYLE
shares5312 views

10 รูปยอดไลค์สูงสุดใน Instagram 2018

Sapparot - Dec 25, 2018

10 รูปยอดไลค์สูงสุดจาก Instagram ปี 2018 รวมแล้วมาจากคนดังระดับโลกเพียง 5 คนเท่านั้น โดยมีหนูน้อย Stromi ลูกสาว Kylie Jenner เรียกยอดไลค์กดหัวใจให้คุณแม่ได้อย่างดีเชียว

อาทิตย์และดวงจันทร์ Rose Céleste เครื่องประดับน่ารักจาก Dior
Accesseries
shares4711 views
Accesseries
shares4711 views

อาทิตย์และดวงจันทร์ Rose Céleste เครื่องประดับน่ารักจาก Dior

Sapparot - Dec 24, 2018

Dior เผยโฉมแอคเซสซอรี่ชิ้นใหม่ Rose Céleste จี้กลมรูปพระอาทิตย์-พระจันทร์ งานแฮนด์เมดสุดปราณีตจากทองคำและเปลือกหอยมุก