สิงคโปร์คว้าแชมป์การจัดการเรียนม.ปลายดีที่สุด ไทยอยู่อันดับที่ 47
OECD จัดลำดับการจัดการศึกษามัธยมปลาย 76 ประเทศ สิงคโปร์คว้าแชมป์ ส่วนเวียดนามน่าจับตามอง ประเทศไทยหล่นไปอันดับ 47 อดีตผู้ช่วยศธ. ย้ำควรเร่งพัฒนาด่วน
มติชนออนไลน์ รายงานว่า นายภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงรายงาน Universal Basic Skills What Countries Stand To Gain ซึ่งวิเคราะห์และจัดลำดับการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายโดยหน่วยงาน Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) พบว่า 20 อันดับใน 76 ประเทศทั่วโลกที่จัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้ดีที่สุดได้แก่ 1.สิงคโปร์ 2.ฮ่องกง 3.เกาหลี 4.ญี่ปุ่น 5.ไต้หวัน 6.ฟินแลนด์ 7.เอสโตเนีย 8.สวิตเซอร์แลนด์ 9.เนเธอร์แลนด์ 10.แคนาดา 11.โปแลนด์ 12.เวียดนาม 13.เยอรมนี 14.ออสเตรเลีย 15.ไอร์แลนด์ 16.เบลเยียม 17.นิวซีแลนด์ 18.สโลวีเนีย 19.ออสเตรีย และ 20.อังกฤษ
ที่น่าจับตามองคือประเทศเวียดนามซึ่งอยู่ในอันดับที่ 12 ขณะที่ประเทศไทยตกไปอยู่อันดับที่ 47 ดีกว่าประเทศมาเลเซียอยู่ไม่มากนัก และเชื่อว่า อีกไม่นาน มาเลเซียจะพัฒนาการศึกษาขึ้นมาได้เทียบเท่ากับประเทศไทย เพราะขณะนี้มาเลเซียอยู่ระหว่างเร่งปฏิรูปการศึกษาอย่างเร่งด่วนเพื่อให้การศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ
ผลการจัดอันดับดังกล่าว เป็นการนำข้อมูลการทดสอบทั้งโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) และการสอบภายในประเทศ อาทิ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) มาวิเคราะห์และนำมาจัดอันดับ นายภาวิชกล่าวว่าผลที่ออกมาไม่เป็นที่น่าแปลกใจนัก เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับการจัดอันดับการจัดการศึกษาในระดับนานาชาติของหน่วยงานอื่น ก็พบว่าไทยอยู่ในอันดับรั้งท้าย นั่นหมายความว่าการพัฒนาของประเทศไทยกำลังหยุดนิ่งขณะที่ประเทศอื่นๆ กำลังเดินไปข้างหน้า จึงควรเร่งกลับมาพัฒนาการจัดการศึกษาอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ นายภาวิชยังให้ความเห็นเกี่ยวกับนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ของพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อีกด้วยว่าค่อนข้างน่าเป็นห่วง ไม่ว่ารัฐบาลจะบอกว่าประชาชนเห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว แต่ถ้าไปสอบถามครูในพื้นที่ จะพบว่าส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อม เพราะยังเน้นจัดการเรียนการสอนตามเนื้อหาวิชาเป็นหลัก
“โดยหลักการแล้ว เราเห็นด้วยว่าเด็กไทยทุกวันนี้เรียนมากเกินไป แต่การลดเวลาเรียนต้องทำอย่างเป็นระบบ แบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะหลักสูตรปัจจุบันจัดการเรียนการสอนโดยเน้นเนื้อหาสาระเป็นหลัก ดังนั้นการปรับลำดับแรกจึงควรสร้างหลักสูตรใหม่ ที่ลดความซ้ำซ้อนของเนื้อหา และจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับเนื้อหาวิชาที่เรียน โดยบางวิชาที่เคยเรียนในห้องเรียน ก็สามารถนำมาจัดกิจกรรมนอกห้องเรียนได้ อาทิ การทดลองทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น โดยที่ผ่านมาผมได้จัดทำหลักสูตรใหม่ ที่ลดเวลาเรียนลงเหลือ 660 ชั่วโมงต่อปี รวมถึงมีตัวอย่างกิจกรรมที่สอดคล้องกับเนื้อหาวิชาเรียน เสนอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อนำมาปรับใช้แล้ว แต่คิดว่า ขณะนี้สพฐ.เองคงยังไม่กล้านำหลักสูตรที่ผมเสนอไปมาดำเนินการ” นายภาวิชกล่าว
You may be interested
คุณครูอวดของขวัญชิ้นประทับใจจากลูกศิษย์ตัวน้อยผู้ไม่มีอะไรจะให้..แต่ก็หามาให้จนได้
Sapparot - Dec 26, 2018คุณครูชั้นประถมในสหรัฐฯ อวดของขวัญชิ้นโดนใจที่ได้รับในช่วงเทศกาลแห่งความสุขจากลูกศิษย์ตัวน้อยที่แม้ตัวเองจะไม่มีอะไรก็ยังตั้งใจสรรหาของขวัญมาให้คุณครูจนได้ ถึงจะเป็นแค่มาร์ชเมลโลว์จากซีเรียลอาหารเช้าธรรมดา ๆ แต่เพราะว่ามีความตั้งใจของหนูอยู่เต็มเปี่ยมในนั้น มันเลยพิเศษที่สุดเลย
10 รูปยอดไลค์สูงสุดใน Instagram 2018
Sapparot - Dec 25, 201810 รูปยอดไลค์สูงสุดจาก Instagram ปี 2018 รวมแล้วมาจากคนดังระดับโลกเพียง 5 คนเท่านั้น โดยมีหนูน้อย Stromi ลูกสาว Kylie Jenner เรียกยอดไลค์กดหัวใจให้คุณแม่ได้อย่างดีเชียว
อาทิตย์และดวงจันทร์ Rose Céleste เครื่องประดับน่ารักจาก Dior
Sapparot - Dec 24, 2018Dior เผยโฉมแอคเซสซอรี่ชิ้นใหม่ Rose Céleste จี้กลมรูปพระอาทิตย์-พระจันทร์ งานแฮนด์เมดสุดปราณีตจากทองคำและเปลือกหอยมุก