#ทำงานหนักมาก: มนุษย์เงินเดือนหรือฟรีแลนซ์? ทางเลือกของเด็กเจนวาย

July 12, 2018
1363 Views

คนรุ่นใหม่วัย First Jobber ย้ายงานเป็นว่าเล่น, ร้านกาแฟของหนุ่มสาวผุดขึ้นมาในย่านใหม่ๆ เป็นดอกเห็ด, ธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดีย และมนุษย์เงินเดือนจำนวนไม่น้อยหันหลังให้บริษัท เดินหน้าสู่อาชีพฟรีแลนซ์ที่มีอิสระในการใช้ชีวิตของตัวเอง

กระแสของโลกการทำงานที่หมุนวนในสังคมไทยช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ เป็นที่มาของเวทีเสวนา “#แรงงานหนักมาก #ฟรีแลนซ์ก็เช่นกัน: จากขบวนการแรงงาน ถึงการเติบใหญ่ของเจนวาย” ที่ ThaiPBS และ AfterShake ร่วมกันจัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม 2558 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ในวงเสวนา วิทยากรจากหลากสาขาความรู้ทั้ง 5 ท่านได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบแรงงานไทยอย่างออกรส เราพบว่ามีหลายเรื่องที่เราไม่เคยรู้มาก่อน และขอคิดแทนทุกคนไม่ว่าจะข้าราชการ พนักงานออฟฟิศ หรือฟรีแลนซ์มืออาชีพ ว่าเราควรทำความใจในสิทธิและสวัสดิการที่ควรได้จากการทำอาชีพที่เรารักในทุกๆ วัน

เราเป็นแรงงานหรือไม่ เมื่อเราไม่ใช่กรรมกร?

คำถามแรกที่ถูกโยนเข้าสู่วงเสวนาคือนิยามของคำว่าแรงงาน จำเป็นต้องเป็นคนที่ใช้แรงในการทำงานเท่านั้นหรือเปล่า?

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ให้คำอธิบายชัดเจนว่า “ทุกคนที่ทำงานคือแรงงานของสังคม ไม่ว่าจะใช้แรงงานทางกายภาพ หรือแรงงานทางสมอง ความคิดสร้างสรรค์ ไปขายเพื่อแปรรูปเป็นผลตอบแทนทางวัตถุหรือเงิน คุณก็คือแรงงานทั้งนั้น”

ฟรีแลนซ์จึงเป็นแรงงานเช่นกัน ซึ่งแบ๊งค์ งามอรุณโชติ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ให้นิยามที่อ้างอิงจาก Freelance International Report ว่าคนที่เข้าข่ายฟรีแลนซ์คือคนที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปซึ่งมีทักษะเฉพาะบางอย่าง และไม่เลือกทำงานในระบบที่มีสัญญาว่าจ้างผูกพันระยะยาว เช่น ศิลปิน หรือนักออกแบบ  

ทางเลือกของเด็กเจนวาย

ธนา เธียรอัจฉริยะ อดีตผู้บริหารดีแทคที่ลาออกและเรียกตัวเองว่าเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัว ให้เหตุผลว่าโซเชียลมีเดียทำให้เด็กเจนวาย “อยาก” ออกมาเป็นฟรีแลนซ์มากขึ้น การได้เห็นโพสต์ของเพื่อนๆ ที่แชร์ชีวิตดีๆ มากขึ้น มีหนังสืออย่างการลาออกครั้งสุดท้าย หรือ งานไม่ประจำทำเงินกว่า ติดอันดับ Best Seller ก็ทำให้ความเชื่อเดิมๆ ที่ว่าองค์กรจะดูแลไปตลอดชีวิตสั่นคลอนลง

ส่วนปรัชญา สิงห์โต หรือ @iannnnn ฟรีแลนซ์ขวัญใจวัยรุ่นก็แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการย้ายงานหรือออกมาเป็นฟรีแลนซ์ของวัยรุ่นว่า “เทคโนโลยีต่างๆ ทำให้เรามองเห็นโอกาสผุดขึ้นมากมาย ถ้าเกิดเราอยู่ในที่ที่รู้สึกว่ามันไม่ใช่ที่ของเรา พบว่าทักษะของเราถ้าไปอยู่ที่บริษัทอื่นสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า เราก็สามารถกระโดดไปที่อื่นได้”

“คนเป็นฟรีแลนซ์จะต้องมีทักษะพิเศษที่งอกออกมาบางอย่าง การตัดสินใจว่าจะกระโดดมาสู่โลกของฟรีแลนซ์ เราต้องคำนวณเรียบร้อยแล้วว่าในหนึ่งเดือนเราต้องการผลตอบแทนเท่าไหร่ แลกกับตอนที่ทำงานในระบบที่เสียเวลาไปกับค่าเดินทาง สุขภาพ ถ้าคุ้มค่อยออกมา” ปรัชญาแนะนำถึงใครที่กำลังลังเลในเส้นทางสายอิสระ
 

อยู่ในระบบก็เงินไม่พอ นอกระบบก็ไม่มีสวัสดิการ

สิ่งที่ชาวสมาพันธ์ฟรีแลนซ์ควรรู้คือ ฟรีแลนซ์จัดเป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่มีประกันสังคมรับรองยามเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีกฎหมายคุ้มครองเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเหมือนแรงงานในระบบอย่างมนุษย์เงินเดือน

แต่เมื่อวันแรงงานเวียนมาถึง เราก็มักเห็นพนักงาน ลูกจ้างออกมาเรียกร้องให้ขึ้นค่าจ้างข้ันต่ำอยู่บ่อยๆ วิชัย นราไพบูลย์ ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย อธิบายเรื่องนี้ว่าสวัสดิการและค่าจ้างต่างๆ ที่รัฐให้นั้นต่ำกว่าเกณฑ์ มีข้อมูลจาก TDRI สำรวจว่าโดยเฉลี่ย ค่าใช้จ่ายที่พอจะให้เราอยู่รอดโดยไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินอยู่ที่ประมาณ 400 บาทต่อวัน

“เรายอมทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานที่ตัวเองเรียกร้องเพื่อให้คุณภาพชีวิตตัวเองดีขึ้น นั่นคือเรายังไม่ไปสู่ความมั่นคงทางการงานจริงๆ”

ใช่ว่าการออกมาเป็นฟรีแลนซ์จะมีรายได้ดีกว่าการทำงานประจำเสมอไป ศิโรตม์ให้ความเห็นว่ามีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นในกลุ่มฟรีแลนซ์ไม่น้อย เพราะฟรีแลนซ์จำนวนมากยังต้องรับงานหลายชิ้นในเวลาเดียวกันเพื่อให้มีรายได้มากพอจะหล่อเลี้ยงกับสถานะที่ตัวเองเลือกแล้วต่อไปได้ หรือบางสาขาอาชีพอย่าง Copywriter โฆษณา ก็ไม่ได้รับค่าจ้างที่สูงมากพอ

สิ่งที่ต้องคิดคือ เราน่าจะมีมาตรฐานเรื่องค่าตอบแทนให้กับฟรีแลนซ์ไม่ต่างจากแรงงานในระบบ

“มีไม่ถึง 10% ของฟรีแลนซ์ที่ประสบความสำเร็จ ตรงนี้สะท้อนเรื่องระบบการจ้างงานที่ไม่สมดุล ทำให้ทุกคนไม่มีความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ มันจึงวนกลับไปที่เดิม คืออยู่ในระบบ ออกจากระบบแล้วก็ต้องกลับเข้าสู่ระบบใหม่”

แบ๊งค์ งามอรุณโชติยกตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติมาบอกว่า ในภาพรวม คนไทยยังมีแนวโน้มที่จะเข้าทำงานในระบบมากขึ้น

“กระแสของฟรีแลนซ์อาจเป็นกระแสของคนเมือง หรือคนที่มีฐานะทางบ้านดี เพราะถ้าเลือกได้ แรงงานที่ไม่ได้เติบโตมาในครอบครัวที่มีกำลังทรัพย์มากมายก็ยังคงให้ความสำคัญกับความมั่นคงของอาชีพ จากผลสำรวจ 70% ของคนที่เลือกมาเป็นฟรีแลนซ์ ก็ต่อเมื่อที่บ้านมีพี่หรือน้องที่พร้อมจะทำงานที่มั่นคงด้วยอย่างน้อย 1 คน”

แรงงานที่ไร้ทางเลือก

ศิโรตม์สรุปสาเหตุที่อาชีพฟรีแลนซ์มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นในไทย ว่าเป็นผลจากรัฐบาลไม่มีสวัสดิการหรือกฎหมายคุ้มครองแรงงานในระบบที่ดีพอ จนคนมองไม่เห็นเหตุผลที่จะอยู่ในระบบต่อไปเมื่อเขามีทางเลือกที่ดีกว่า โดยปรัชญาก็เป็นคนหนึ่งที่บอกว่าเขาเลิกหวังพึ่งพารัฐบาลไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่หวังพึ่งสวัสดิการใดๆ จากรัฐ แต่คนทำงานทุกคนก็ยังต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจของประเทศที่ขึ้นกับรัฐบาลอยู่ดี ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจพลิกผัน ก็ย่อมส่งผลกระทบกับแรงงานทุกระบบ

“เราอาจคิดว่าทำงานอิสระ ไม่ต้องอยู่ให้รัฐคุ้มครองก็จริง แต่แท้จริงแล้วเราไม่ได้อิสระ มันมีระบบที่มองไม่เห็นให้คุณต้องทำงานเยอะๆ ไม่งั้นคุณก็อยู่ไม่ได้” วิชัยเสนอมุมมองที่น่าสนใจ ที่ทำให้นึกไปถึงแรงงานอีกกลุ่มซึ่งทำงานหนักมากๆ แต่กลับได้รับค่าตอบแทนต่ำ คือกลุ่มแรงงานนอกระบบที่วุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี หรือแรงงานปกฟ้า

“เทียบข้อมูลเฉพาะกลุ่มคน Gen Y ค่าจ้างเฉลี่ยของแรงงานในระบบอยู่ที่ 17,000 บาท ส่วนฟรีแลนซ์ 16,000 บาท แต่ชั่วโมงทำงานของฟรีแลนซ์จะเยอะกว่า เขาถือว่ารับค่าจ้างน้อยกว่านิดหน่อยแลกกับอิสระที่จะจัดการชีวิตตัวเอง แต่แรงงานปกฟ้า เขาไม่มีทางเลือกที่จะเข้าระบบได้ตามอำเภอใจ” แบ๊งค์ให้ข้อมูล

ทางออกของทุกคน

สถานการณ์เรื่องแรงงานที่ดูเหมือนจะถอยหลัง ดูจากที่ธนาบอกว่าเมื่อ 25 ปีที่แล้วหลังเขาจบปริญญาโทได้รับเงินเดือน 17,000 บาท ทุกวันนี้เขาก็ยังจ้างพนักงานในอัตราเงินเดือนเท่าเดิม

แน่นอนว่ารัฐบาลควรเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการแก้ปัญหาระบบแรงงานและสวัสดิการที่จะดูแลคนทุกกลุ่มได้อย่างเท่าเทียม ทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลให้ทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ใกล้เคียงกัน

ศิโรตม์ยกตัวอย่างชีวิตของแรงงานแอฟริกันผิดกฏหมายที่ทำงานในร้านอาหารที่อเมริกาจากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Hand That Feeds (2014) ซึ่งสามารถรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานเพื่อเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำกับรัฐบาลอเมริกาได้

“ไม่ว่าคุณจะทำงานในระบบอย่างถูกกฏหมายหรือเป็นแรงงานข้ามชาติ ก็ต้องมีระบบที่สร้างมาตรฐานให้กับทุกอาชีพอย่างที่ต่างชาติเขามี”

ทางรอดในเบื้องต้นของสังคมไทย คือการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่พาการสื่อสาร องค์ความรู้จากทั่วทุกมุมโลก เป็นช่องทางที่เราจะพัฒนาและขวนขวายด้วยตัวเองขึ้นอยู่กับว่าใครจะกอบโกยได้มากแค่ไหน ซึ่งรัฐบาลก็ควรสนับสนุนให้การเข้าถึงเป็นไปอย่างดีที่สุดและสร้างช่องทางใหม่ๆ ให้ประชาชน เช่น การสนับสนุนธุรกิจ Startup อย่างที่ Google ได้ไปเปิดมหาวิทยาลัยที่กรุงโซลแล้ว

การรวมกลุ่มของแรงงานให้นำไปสู่การจัดตั้งพรรคแรงงานที่พร้อมตอบสนองนโยบายของประชาชนอย่างเต็มที่ การสร้างภาพของสังคมที่อยากเห็นร่วมกัน เพื่อให้ประชาชนพร้อมอุทิศตนให้เข้ามามีส่วนร่วมเรียกร้อง ไปจนถึงสื่อมวลชนที่จะเป็นวิชาชีพสำคัญที่ร้อยรัดความคิดร่วมกันในสังคม เหล่านี้คือทางออกที่วิทยากรทั้งหมดร่วมกันเสนอในเวทีเสวนาครั้งนี้

ซึ่งจะเป็นไปได้จริงในวันใด คำตอบก็อยู่ที่พวกเราในฐานะแรงงานทุกคน

ภาพ: ภาณุพันธ์ วีรวภูษิต
Tell us what you think!

You may be interested

คุณครูอวดของขวัญชิ้นประทับใจจากลูกศิษย์ตัวน้อยผู้ไม่มีอะไรจะให้..แต่ก็หามาให้จนได้
AROUND THE WORLD
shares5837 views
AROUND THE WORLD
shares5837 views

คุณครูอวดของขวัญชิ้นประทับใจจากลูกศิษย์ตัวน้อยผู้ไม่มีอะไรจะให้..แต่ก็หามาให้จนได้

Sapparot - Dec 26, 2018

คุณครูชั้นประถมในสหรัฐฯ อวดของขวัญชิ้นโดนใจที่ได้รับในช่วงเทศกาลแห่งความสุขจากลูกศิษย์ตัวน้อยที่แม้ตัวเองจะไม่มีอะไรก็ยังตั้งใจสรรหาของขวัญมาให้คุณครูจนได้ ถึงจะเป็นแค่มาร์ชเมลโลว์จากซีเรียลอาหารเช้าธรรมดา ๆ แต่เพราะว่ามีความตั้งใจของหนูอยู่เต็มเปี่ยมในนั้น มันเลยพิเศษที่สุดเลย

10 รูปยอดไลค์สูงสุดใน Instagram 2018
LIFESTYLE
shares5095 views
LIFESTYLE
shares5095 views

10 รูปยอดไลค์สูงสุดใน Instagram 2018

Sapparot - Dec 25, 2018

10 รูปยอดไลค์สูงสุดจาก Instagram ปี 2018 รวมแล้วมาจากคนดังระดับโลกเพียง 5 คนเท่านั้น โดยมีหนูน้อย Stromi ลูกสาว Kylie Jenner เรียกยอดไลค์กดหัวใจให้คุณแม่ได้อย่างดีเชียว

อาทิตย์และดวงจันทร์ Rose Céleste เครื่องประดับน่ารักจาก Dior
Accesseries
shares4453 views
Accesseries
shares4453 views

อาทิตย์และดวงจันทร์ Rose Céleste เครื่องประดับน่ารักจาก Dior

Sapparot - Dec 24, 2018

Dior เผยโฉมแอคเซสซอรี่ชิ้นใหม่ Rose Céleste จี้กลมรูปพระอาทิตย์-พระจันทร์ งานแฮนด์เมดสุดปราณีตจากทองคำและเปลือกหอยมุก